กก.โรคติดต่อ จ.สงขลา เฝ้าระวัง 5 โรคระบาด

หมวดหมู่ : สงขลา,

อ่าน : 215
เฝ้าระวัง 5 โรคระบาด สงขลา-คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา
กก.โรคติดต่อ จ.สงขลา เฝ้าระวัง 5 โรคระบาด

สงขลา-คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา ประชุมเฝ้าระวัง 5 โรคระบาด หัด ไอกรน ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออกและพิษสุนับบ้า พร้อมหารือรับรองแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 เวลา 09.00 น. นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา น  ที่ห้องประชุมฑิฆัมพร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ที่ทำการปกครองจังหวัดสงขลา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ และโรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลาเข้าร่วมประชุม

การประชุมได้พูดคุยหารือ ใน 5 โรคหลักที่พบการระบาดในจังหวัดสงขลา ได้แก่ โรคหัด ไอกรน ไข้มาลาเรียไข้เลือดออกและพิษสุนับบ้า นายแพทย์กู้ศักดิ์ บำรุงเสนา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม พบผู้ป่วยโรคหัดแล้วกว่า 300 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต อำเภอที่พบการระบาดอยู่ใน อ.สะบ้าย้อย อ.นาหม่อม อ.สะเดา อ.เทพา ซึ่งสาธารณสุขได้ประสานกับพื้นที่ เร่งเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีน พร้อมติดตามผลพื้นที่เสี่ยง สื่อสารสนับสนุนทีมเฝ้าระวังเคลื่อนที่เร็วระดับอำเภอ ให้ดำเนินมาตรการฉีดวัคซีนเชิงรุกแก่ผู้สัมผัสโรคในสถานที่ ๆ พบการระบาด เช่น โรงเรียน ที่ทำงาน หรือชุมชน และยังสื่อสารติดตามการให้วิตามิน A ในผู้ป่วยสงสัยโรคหัดอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ป่วยทุพโภชนาการ หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ให้สามารถเข้าถึงวิตามิน A ได้ 100%

โรคไอกรน ข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 – 10 เมษายน 2567 จังหวัดสงขลาพบผู้ป่วย 28 ราย จากพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.สะเดา ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 0-7 ปี ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมฯ จึงกลายเป็นสถานที่เฝ้าระวังโรค ซึ่งสาธารณสุขต้องเร่งเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีนให้ได้ร้อยละ 90 และต้องดูแลครอบคลุมไปถึงการให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ และเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กด้วย

โรคไข้มาลาเรีย จะเข้มงวดกับหมู่บ้านชุมชนที่พบผู้ป่วยต่อเนื่อง พื้นที่ ๆ ยังต้องคุมเข้ม (A1) คือ อำเภอคลองหอยโข่งสะบ้าย้อย รัตภูมิ เน้นการกำจัดยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ส่วนของคณะทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียจังหวัดสงขลา ในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานป้องกันดูแลตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด

โรคไข้เลือดออกข้อมูลจากสาธารณสุข ณ วันที่ 10 เมษายน 2567 จังหวัดสงขลาพบผู้ป่วย 1,669 ราย อัตราป่วย116.59 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้เสียชีวิต 1 ราย (อยู่ในอำเภอหาดใหญ่) อยู่ในลำดับ 5 ของประเทศ โดยสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กำกับ อสม. ให้ดำเนินการสำรวจ ให้ความรู้ชาวบ้าน ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ กำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างเข้มข้นทั้งในชุมชน และสถานที่สำคัญ ให้สถานพยาบาลทุกระดับ และทุกสังกัดจัดหาและจ่ายยากันยุงหรือสเปร์ยพ่นกันยุงแก่ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่แพทย์ให้กลับบ้าน เพื่อลดการส่งต่อเชื้อในครอบครัว โดยอำเภอที่พบการติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ อำเภอรัตภูมิ 3 ราย สะบ้าย้อย
3 ราย คลองหอยโข่ง 1 ราย

โรคพิษสุนัขบ้า รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้รายงานข้อมูลโรคพิษสุนัขในคนว่า โรคพิษสุนัขบ้าถือเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิษ เพราะหากได้รับเชื้อและถึงขั้นแสดงอาการของโรคแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งเมื่อปี2565 และปี 2566 จังหวัดสงขลาพบผู้เสียชีวิตปีละ 1 ราย รวม 2 ราย ส่วนปี 2567 ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน 2567 จังหวัดสงขลา พบหัวสุนัขติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จำนวน 24 หัว ทางสาธารณสุขได้จัดชุด JIT ลงสอบสวนโรคและค้นหาผู้สัมผัส มาเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว โดยจะร่วมกับสาธารณสุขอำเภอ/ รพ.สต./ ปศุสัตว์จังหวัด/ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนของวัคซีนทางสาธารณสุขมีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพียงพอ พร้อมให้บริการประชาชนทั้งชนิดฉีดภูมิคุ้มกัน และชนิดฉีดเพื่อสร้างภูมิ โรคพิษสุนัขในสัตว์

นายอรุณ ชุมแก้ว นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้แทนปศุสัตว์จังหวัดสงขลา รายงานว่า จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคน ที่ทางรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลาได้รายงาน ถือว่าโชคดีที่จังหวัดสงขลามีเครือข่ายเฝ้าระวังที่ค่อนข้างดี ในการทำหน้าที่แจ้งเตือน สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์โรค การระบาดยังคงพบประปรายในสุนัขและวัว พื้นที่เสี่ยงสูงยังคงเป็น อ.สะบ้าย้อย เขตติด อ.นาทวี, อ.หาดใหญ่ ใน ต.ควนลัง โดยปศุสัตว์จังหวัดสงขลาได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ทั้งที่มีเจ้าของ, และสุนัขจรจัด ให้ได้ตามเป้าหมาย ร้อยละ 80

ส่วนแผนระยะต่อไปปศุสัตว์จังหวัดสงขลา จะเร่งดำเนินการเชิงรุกมากขึ้น เช่น ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้บริการฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยงตามบ้าน เป่าลูกดอกฉีดวัคซีนสัตว์จรจัดตามชุมชน โดยมีเครือข่ายชุมชนเป็นผู้ชี้เป้า/ ช่วยจับ ที่ประชุมเสนอให้มีการสื่อสารสถานการณ์โรคระบาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ประชาชนได้รับทราบ โดยขอให้สาธารณสุขและปศุสัตว์ ประสานกับประชาสัมพันธ์จังหวัด ในการส่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เผยแพร่ออกไปทุกช่องทางเพื่อสร้างการรับรู้ และต้องโต้ตอบข่าวสารให้รวดเร็วด้วยชุดข้อมูลที่ถูกต้อง หากสื่อมวลชนมีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนอันส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดเช่นในห้วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ด่านควบคุมโรคฯ ยังเสนอให้มีการจัดสัปดาห์รณรงค์ป้องกันโรคติดต่อจังหวัดสงขลาด้วย

นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เน้นย้ำ เรื่องการให้บริการวัคซีนโรคหัด ไอกรนให้ครอบคลุม ไข้เลือดออก และมาลาเรีย ขอให้เร่งรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรค ป้องกันยุง การกำจัดลูกน้ำยุงลาย ดูแลเฝ้าระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้คน หรือสัตว์ที่อาจติดเชื้อ ตัดทอนปัญหาการขยายพื้นที่การระบาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการที่รัดกุม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่มีกฎหมายในมือต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หาแนวทางส่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ เช่น สถานการณ์การเกิดของโรค วิธีป้องกันตนเอง การสังเกตอาการ ตลอดจนการรักษา ให้ถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ยังเสนอที่ประชุมให้มีการพิจารณารับรองแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.2566 – 2570 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียและแผนป้องกันการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ระดับจังหวัดสงขลาด้วย ซึ่งที่ประชุมให้ความเห็นชอบ.





อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :