คนไทยในมาเลย์ร้องผ่าน “นิพนธ์”ช่วยเรื่องแจ้งเกิด-ตาย และพาสปอร์ต
หมวดหมู่ : การเมือง, สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 4 ธ.ค. 2565, 16:30 น. อ่าน : 745สงขลา-“นิพนธ์” รับปากช่วยร้านอาหารต้มยำกุ้ง หลังประธานเครือข่ายฯทั่วประเทศมาเลเซีย ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และปัญหาเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับเอกสารราชการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ซึ่งนำคณะไปเยี่ยมเยียนและร่วมพบปะกับกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารต้มยำกุ้ง ในประเทศมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ระหว่างวันที่ 2-5 ธ.ค.2565 เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันกับ นายโจฮาริ บิน อัมเหม็ด ประธานชมรม Ukhuwah และกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารต้มยำกุ้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ฯว่า ปัจจุบันการมาทำงานในประเทศมาเลเซียของกลุ่มคนไทยนั้นมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องการให้รัฐบาลไทยได้เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขเร่งด่วนเนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของกลุ่มคนไทยที่มาทำงานฯที่มาเลเซีย
ทางกลุ่มฯได้ร้องขอให้ช่วยเหลือในเรื่อง
1.การแจ้งเกิด แจ้งตายที่ปัจจุบันมีรายละเอียดและขั้นตอนการทํางานที่ยุ่งยาก และหลายขั้นตอน
2.การอํานวยความสะดวกในการออกใบขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศมาเลเซีย,
3.การอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือเดิน ทางให้กับคนไทยที่เดินทางมาทํางาน ให้สามารถต่ออายุ/ทำใหม่ได้ที่สถานทูตฯ
4.การกำหนดรายละเอียดการออกใบอนุญาตให้เข้ามาทํางานในประเทศมาเลเซีย (Work Permit) โดยกำหนดประเภทแรงงาน/ราคา
5.การส่งเสริมกิจกรรมการแข่งขันกีฬา และกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ของคนไทยที่เดินทางมาทํางานในประเทศมาเลเซีย
6.การจัดหาครูผู้สอนและสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับเด็กที่ครอบครัวพามาพักอาศัย หรือ ที่แม่คนไทยคลอดในประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งปัจจุบันเด็กที่เดินทางมากับผู้ปกครองนั้นไม่สามารถสื่อสารและใช้ภาษาไทยได้
นายนิพนธ์ กล่าวว่า การร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะกลุ่มคนที่ร้องขอมานั้นก็ถือเป็นคนไทยเช่นเดียวกัน โดยรายละเอียดต่างๆนั้น โดยส่วนตัวคิดว่าบางอย่างสามารถดำเนินการได้ทันที อย่างการจัดกิจกรรมกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์นั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้คนไทยในต่างแดนได้รู้จักกันมากขึ้น สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในเรื่องต่างๆ ส่วนในเรื่องพาสปอร์ต และใบอนุญาตการทำงานต้องมีการประสานกับกระทรวงต่างประเทศ และทางการมาเลเซียต่อไป โดยจะรับไปดำเนินการต่อรวมทั้งประเด็นอื่นๆ ตามที่กลุ่มฯได้ร้องขอมา ซึ่งต้องถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้ทำรายได้เข้าประเทศ และหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนใต้ของเราส่วนหนึ่งด้วย.