คิ๊กออฟปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคง ระยะที่ 2

หมวดหมู่ : นครศรีธรรมราช,

อ่าน : 1,001
ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคง ระยะที่ 2
คิ๊กออฟปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคง ระยะที่ 2

        นครศรีธรรมราช - พัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รองผู้ว่าฯ นำทัพ Kick off ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ระยะที่ 2 สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน

       นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในกิจกรรม Kick off การดำเนินงาน “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ระยะที่ 2 สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน ที่แปลงผักหลังวัดหญ้า หมู่ที่ 2 ตำบลนาทราย อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเช้าวันที่ 24 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ภาคีการพัฒนาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน นักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง พัฒนาการอำเภอทั้ง 23 อำเภอ ตลอดจนเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน

       การดำเนินงาน “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร”ระยะที่ 2 สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน ขององค์การ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่นยืน และเพื่อสร้างรายได้ตลอดจนเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีและการเกื้อกูลของคนในชุมชน/หมู่บ้าน เป้าหมายการดำเนินงานทุกหมู่บ้านทุกครัวเรือนที่ร่วมดำเนินการในระยะที่ 1 ดำเนินการขับเคลื่อนระหว่าง 1 กรกฎาคม-5 ธันวาคม 2563 โดยยังคงยึดหลักการดำเนินการในระยะที่ 1 คือ จะพัฒนาใครเขาต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ผู้นำต้องทำก่อน ผนึกกำลัง ตั้งระบบ ทำให้ครบวงจร ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน และสร้างเครือข่ายขยายผล ซึ่งเป็นแนวทางขับเคลื่อนที่เข้มแข็งและประสบผลสำเร็จแล้ว

       สำหรับ เป้าหมายในเฟส 2 จะยิ่งเข้มข้นกว่าเฟสแรก เพราะต้องการให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงในทุกชุมชน เริ่มจาก “ความต่อเนื่องคือพลัง” ส่งเสริมการปลูกพืชผักที่ปลูกอยู่แล้วให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และปลูกพืชผักเพิ่มเติมจากเดิม รวม 10 ชนิด “ทำเป็นบ้านสานเป็นกลุ่ม” ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มปลูกพืชผักประจำครัวเรือน เช่น มะนาว กล้วย มะละกอ เป็นต้น เพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกินให้มีมูลค่าเพิ่ม “ชุมชนสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” สร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อม และสร้างชุมชนสีเขียว “จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรม” ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและของใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันจากพืชผักอาหารรักษ์สุขภาพ อาหารรักษ์โลก ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพื้นบ้าน นำไปสู่ “ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง” เกิดชุมชนเกื้อกูล สามารถดูแล ช่วยเหลือ และแบ่งปันจัดตั้งศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์หรือต่อยอดในรูปแบบอื่นๆ    

        รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” เน้นการพึ่งตนเองและสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน และลดรายจ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชน สร้างรายได้ระยะสั้นในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีเป็นอย่างยิ่งสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท สร้างรายได้ สร้างเสริมความรัก ความสามัคคี เกิดการเกื้อกูลของคนในชุมชน/หมู่บ้าน และพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน.



อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :