ค้นพบ ยีสต์สกุลและสปีชีส์ใหม่ของโลก ในประเทศไทย จากผิวใบสับปะรด ที่พัทลุงและชลบุรี
หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 6 ก.พ. 2565, 21:19 น. อ่าน : 955 พัทลุง - ทีมวิจัยที่ค้นพบยีสต์สกุล
(genus) และสปีชีส์ (species) ใหม่ของโลก
จากผิวใบสับปะรด ประกอบด้วย ดร.ภูมิน นุตรทัต สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยทักษิณ ดร.วนัชพร บุญธรรม สาขาวิชาจุลชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และ ดร.พัณณิดา ขุนนามวงษ์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เป็นนักวิจัยภายใต้โครงการ
“เหมืองข้อมูลและคลังทรัพยากรจุลินทรีย์เพื่อการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร”
โดยได้รับทุนสนับสนุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ผ่านทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายการทำวิจัยของคณาจารย์ที่เป็นนักวิจัยรุ่นกลางและรุ่นเยาว์ของสถาบันอุดมศึกษามากกว่า
8 สถาบัน
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ในประเทศไทย
และการจัดทำฐานข้อมูลจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพด้านการเกษตรและอาหาร
ดร.ภูมิน นุตรทัต สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพของยีสต์ในประเทศไทย และการจัดทำฐานข้อมูลยีสต์ที่มีศักยภาพด้านการเกษตรและอาหาร โดยการสร้างเครือข่ายการทำวิจัยของคณาจารย์ที่เป็นนักวิจัยรุ่นกลางและรุ่นเยาว์ของสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 8 สถาบัน โดยในส่วนของทีมวิจัยนี้รับผิดชอบในส่วนของการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของยีสต์บนผิวใบสับปะรด พร้อมกับการศึกษาหายีสต์ที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเจริญของพืช เนื่องจากสับปะรดเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย และคาดว่าน่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของยีสต์ที่มีคุณสมบัติในการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรและอาหาร และในระหว่างการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของยีสต์ในใบสับปะรด จากจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย ได้ค้นพบยีสต์สกุล (genus) และสปีชีส์ (species) ใหม่ โดยอาศัยระบบการจัดจําแนกแบบ polyphasic taxonomy (classical taxonomy และ molecular taxonomy) ปรากฏว่าไม่ตรงกับชนิดใดในโลก ต่อมาจึงได้ร่วมกันตีพิมพ์ประกาศให้เป็นยีสต์สกุล (genus) และชนิด (species) ใหม่ของประเทศไทย และของโลก ลงในวารสารนานาชาติ Journal of Fungi (https://doi.org/10.3390/jof8020118) สำหรับพื้นที่ที่ค้นพบคืออำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง และได้ตั้งชื่อยีสต์สกุลใหม่ว่า Savitreella และชื่อสปีชีส์ใหม่ว่า Savitreella phatthalungensis และยีสต์สปีชีส์ใหม่อีกสปีชีส์ที่ค้นพบจากอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้ตั้งชื่อว่า Goffeauzyma siamensis สาเหตุตั้งชื่อยีสต์สกุลใหม่ว่า Savitreella เพื่อให้เกียรติแด่ ศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี ลิ่มทอง ผู้เชี่ยวชาญยีสต์ ทั้งด้านอนุกรมวิธาน ความหลากหลายและเทคโนโลยีชีวภาพยีสต์ในประเทศไทย ส่วน Goffeauzyma siamensis คณะวิจัยตั้งชื่อว่า siamensis เพราะคำว่า “Siam” เป็นชื่อเดิมของประเทศไทย เพื่อต้องการบ่งบอกว่ายีสต์สปีชีส์ใหม่นี้ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศไทย
สำหรับประโยชน์ต่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ในโครงการวิจัยย่อยนี้อยู่ระหว่างการนำทรัพยากรยีสต์ที่รวบรวมได้มาศึกษาประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเจริญของพืชในด้านการควบคุมราก่อโรคพืช รวมถึงศึกษาความสามารถในการผลิตสารอินทรีย์ระเหยง่าย เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดใช้สารเคมีทางการเกษตร และเป็นการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนต่อไป.