ชาวประมงภูเก็ตยื่นค้านอีก - เปิดโรงต่อและซ่อมแซมเรือ

หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ภูเก็ต, ทั่วไป,

อ่าน : 879
โรงต่อและซ่อมแซมเรือภูเก็ต ชาวประมงภูเก็ต
ชาวประมงภูเก็ตยื่นค้านอีก - เปิดโรงต่อและซ่อมแซมเรือ

        ภูเก็ต - กลุ่มชาวประมง ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ยื่นหนังสือคัดค้านการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานต่อและซ่อมแซมเรือของเอกชน บริเวณท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต หวั่นเกิดผลกระทบการขนถ่ายสัตว์น้ำและการแปรรูปสัตว์น้ำ


        การคัดค้านครั้งนี้ นายสมยศ วงศ์บุณยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ต พร้อมด้วยชาวประมงพาณิชย์, ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 1, 4 และ 7 ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ได้รวมตัวกันที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต (องค์การสะพานปลาภูเก็ต) หลังจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตได้ติดประกาศ ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2563 เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 เพื่อประกอบการพิจารณาการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่อและซ่อมแซมเรือ ของบริษัทดังกล่าวฯ โดยขอให้แจ้งได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 โดยมี นายพิทักษ์ บุญคงแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มารับหนังสือ และรับฟังความคิดเห็นจากสมาคมชาวประมงและชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว 


        นายสมยศ วงศ์บุณยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ต กล่าวว่า การมายื่นหนังสือครั้งนี้เพื่
อคัดค้านการออกใบอนุญาตประกอบกิจการต่อและซ่อมแซมเรือของ บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) หลังจากที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ได้ไปติดประกาศไว้ที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต โดยก่อนหน้านี้ได้เคยยื่นเรื่องคัดค้านกับทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว แต่ยังมีการเดินหน้าต่อ จึงได้มายื่นหนังสืออีกครั้ง เพื่อยืนยันเจตนารมณ์เดิม


        “เหตุที่ต้องคัดค้าน เนื่องจากการซ่อมและต่อเรือเป็
นอุตสาหกรรมหนัก จะมีผลกระทบในภาพรวม ทั้งการขนถ่ายสัตว์น้ำ การแปรรูปสัตว์น้ำ ชุมชนโดยรวม และป่าชายเลนซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เนื่องจากพื้นที่ที่องค์การสะพานปลาอนุญาตให้บริษัทฯ ดำเนินกิจการนั้น อยู่ไม่ห่างจากท่าเทียบเรือประมงซึ่งเป็นสถานที่ขนถ่ายสัตว์น้ำ อาคารพาณิชย์ สำนักงาน บ้านที่อยู่อาศัย โรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยว ประกอบกับโซนท่าเทียบเรือเป็นพื้นที่โซนสีเขียว จึงไม่เหมาะที่จะมีการดำเนินกิจการต่อเรือและซ่อมแซมเรือเหล็ก เพราะจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทางน้ำและทางเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และจะเกิดการปนเปื้อนสัตว์น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เกิดสารตกค้าง และจะกระทบกับการส่งออกด้วย ในขณะเดียวกันการสร้างในพื้นที่ป่าชายเลนก็จะไปทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และแหล่งทำมาหากินของชุมชน ตลอดจนการจอดเรือของชาวบ้าน” นายสมยศ กล่าว


       นายสมยศ กล่าวอีกว่า กิจการดังกล่าวนั้นไม่เหมาะกับพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว และบริเวณที่จะก่อสร้างเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อการบริโภค นอกจากนี้ยังความขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและชายฝั่ง อนุญาตให้องค์การสะพานปลาใช้พื้นที่ ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกิจการแพปลาพ.ศ.2496 และภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ ประกอบกับจะมีการก่อสร้างบนพื้นที่ 66 ไร่ ซึ่งมองว่าผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนในพื้นที่เท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบไปถึงระดับประเทศด้วย หากมีการตรวจพบว่า มีสารพิษตกค้างในสัตว์น้ำที่มีการขนถ่ายภายในท่าเทียบเรือประมง ซึ่งที่ผ่านมาชาวประมงมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ นอกจากนี้ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ยังไม่ได้มารับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ มีเพียงสอบถามบางคนเท่านั้น


        ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไทยแหลมทองออนไลน์ จะติดตามนำมาเสนอต่อไป.





อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :