“ชุมชนหนองหิน” สร้างนวัตกรรม กำจัดลูกน้ำยุงลาย
หมวดหมู่ : ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 25 มิ.ย. 2563, 10:53 น. อ่าน : 1,023ร้อยเอ็ด- “ชุมชนหนองหิน” จังหวัดร้อยเอ็ด ป้องกันการระบาดไข้เลือดออกผ่าน “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” สร้างนวัตกรรม “ธงสามสี” เป็นมาตรการทางสังคมในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย แนะสร้างจุดร่วมเพื่อก้าวเดินโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกในประเทศไทยปัจจุบันพบว่า เพียงครึ่งแรกของปี 2563 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมแล้วราว 17,000 คน การจะรับมือการระบาดได้นั้นความร่วมมือกันในชุมชนจึงถือเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากคนอยู่ในพื้นที่ย่อมรู้ว่าจุดใดเป็นแหล่งลูกน้ำยุงลาย เข้าใจบริบท ช่วงเวลาที่มักมีการระบาด ฯลฯ โดยเฉพาะที่ ต.หนองหิน อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด มีการสรา้งมาตรการทางสังคมในการกำจัดลูกน้ำยุงลายจนประสบผลสำเร็จ
นางเพ็ญศรี สุดชา ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหิน เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดร้อยเอ็ด ให้สัมภาษณ์กับรายการคลื่นความคิด FM 96.5 ถึงการสานพลังชุมชนชาวตำบลหนองหิน ว่า ชาวตำบลหนองหิน ให้ความสำคัญกับการป้องกัน เพราะไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น เมื่อก่อนพบเยอะ แต่พอมีธรรมนูญพื้นที่ ทำเป็นมาตรการป้องกัน เหตุจึงทุเลาเบาบางลง พบบ้างเล็กๆ น้อยๆ หรือลูกหลานไปเรียนต่างถิ่นแล้วเป็นไข้กลับมา
จากการพูดคุยสร้างกติการ่วมกันจนได้ธรรมนูญสุขภาพธรรมนูญประชาชนคนตำบลหนองหิน สู่ชีวิตแบบ “อยู่ดี มีแฮง” บวกกับการขับเคลื่อนงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 เรื่อง สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ชาวตำบลหนองหินจึงได้นำเครื่องมือทั้งสองมาผสมผสานกันจนได้กติกาที่ทุกฝ่ายในชุมชนยอมรับ
นางเพ็ญศรีอธิบายว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ายุงลายเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ชาวหนองหินจึงยึดสโลแกนว่า ‘ไม่มีลูกน้ำ ไม่มียุงลาย ไม่มีไข้เลือดออก’ แล้วสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนให้แต่ละครัวเรือนดูแหล่งน้ำขังในบ้านตัวเอง โดยจะมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 1 คนดูแล 8 หลังคาเรือน คอยห้ความรู้และตรวจตรา อีกด้านหนึ่ง ผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็จะใช้หอกระจายข่าวช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ในส่วนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและทีมงานก็คอยให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นอย่างดี และเนื่องจากชาวตำบลหนองหินไม่ส่งเสริมการใช้สารเคมีจึงไม่ใช้การฉีดพ่นยาหรือทรายอะเบท ดังนั้น พวกเขาจึงคิดค้นนวัตกรรมแบบบ้านๆ ขึ้น โดยใช้มาตรการทางสังคมแทน
“นวัตกรรมของพวกเราคือ ธงสามสี เวลา อสม. ลงตรวจ ถ้าบ้านหลังไหนเจอลูกน้ำก็จะปักธงสีแดงที่บ้าน ถ้าตรวจไม่พบก็จะปักธงสีเขียว หากธงสีเขียวครบสามเดือนก็ จะขึ้นธงสีขาวให้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าบ้านหลังนั้นปลอดลูกน้ำยุงลาย แต่ถ้าบ้านไหนมีธงสีแดงถือว่ามีสิ่งอันตรายอยู่ในครัวเรือน ครั้งแรกๆ เจ้าของบ้านไปไร่นากลับมาเห็นธงสีแดงก็จะแปลกใจ เราก็อธิบายให้เข้าใจ เขาก็ยอมรับ...ส่วนมากเจ้าของบ้านจะรีบไปหาว่า มีลูกน้ำอยู่ตรงไหน เขาก็จะทำลายด้วยตัวเอง แต่ถ้า อสม. ตรวจพบอีก ก็จะเอาชื่อประกาศผ่านหอกระจายข่าว อาจจะดูรุนแรง แต่เป็นสิ่งที่พวกเราในชุมชนตกลงกันแล้วว่า จะทำแบบนี้ ทำให้การป้องกันไข้เลือดออกมีแนวโน้มดีขึ้นมาก” นางเพ็ญศรีกล่าว
ปัจจุบัน นวัตกรรมธงสามสีถูกนำไปใช้ในทั้ง 5 ตำบลของอำเภอเมืองสรวงแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการขยายความคิดนี้ไปใช้ยังพื้นที่อื่นๆ เช่น จังหวัดเลย และมีการสื่อสารกลับมาว่าได้ผล โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเหมือนการแจกทรายอะเบทหรือฉีดพ่นยาเหมือนในอดีต
“การสร้างเสริมสุขภาพไม่ว่าจะมิติใด ทั้งการส่งเสริม การป้องกัน การดูแลรักษา ทุกกลุ่มวัยหรือผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เราต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องมีจุดร่วมกันถึงจะหันหน้ามาร่วมมือกัน ก้าวเดินพร้อมกันไปสู่เป้าหมายได้ อย่างที่หนองหินเรามีธรรมนูญสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว ถ้ามีจุดนี้ก็จะพูดภาษาเดียวกัน เดินไปด้วยกัน” นางเพ็ญศรี กล่าวย้ำ