ธปท.สนง.ภาคใต้ แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 2564
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, สงขลา, ทั่วไป, ภาคใต้,
โฟสเมื่อ : 9 พ.ค. 2564, 16:41 น. อ่าน : 1,500ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 2564 ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนมีนาคม 2564 หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองคลี่คลายลง อีกทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐขยายตัวชะลอลง ด้านมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อเนื่องให้การผลิต ภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกจากที่ติดลบในเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ
และราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับภาคการเงิน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564
เงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ
โครงการ “เราชนะ” “เรารักกัน” รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
ประกอบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองคลี่คลายลง โดยการใช้จ่ายปรับดีขึ้นในหลายหมวด
อาทิสินค้ากึ่งคงทน หมวดบริการด้านการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นต้น
รวมถึงหมวดยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวได้
จากกลุ่มรถจักรยานยนต์และรถยนต์เชิงพาณิชย์อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันยังหดตัวใกล้เคียงเดือนก่อน
ผลผลิตภาคเกษตร
ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยผลผลิตปาล์มน้ำมันขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงให้ผลผลิต
(peak
season) ที่เร็วกว่าปกติเล็กน้อย
ด้านผลผลิตยางพาราขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีโรคใบร่วงระบาดในภาคใต้ตอนล่าง
ขณะที่ผลผลิตกุ้งขาวกลับมาขยายตัวตามการลงลูกกุ้งในช่วง 2-3
เดือนก่อนหน้าที่ปรับดีขึ้น หลังผ่านพ้นช่วงที่มีพายุเข้า ด้าน ราคาสินค้าเกษตร
ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกัน
ตามราคายางพาราที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันรับซื้อวัตถุดิบ โดยเฉพาะน้ำยางสด
ด้านราคากุ้งขาวกลับมาขยายตัว จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครคลี่คลายลง ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันยังคงขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน
ทั้งนี้ จากทั้งราคาและผลผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
การลงทุนภาคเอกชน
ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยกลับมาขยายตัวเล็กน้อย ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับดีขึ้น
ทั้งมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน ด้านยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวชะลอตัว
แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม พื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างหดตัวมากขึ้น
ตามพื้นที่ฯ ในหมวดเพื่อการบริการในหมวดโรงแรม
ด้าน ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว สะท้อนจากพื้นที่ฯ
ในหมวดที่อยู่อาศัยบ้านแนวราบที่ปรับลดลง
การใช้จ่ายภาครัฐ
ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน โดยรายจ่ายประจำกลับมาหดตัว ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ออกนอกระบบ
และของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกจังหวัด
จากผลของฐานสูงในระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการเบิกจ่ายสูง ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของ
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563
ด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลง ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ออกนอกระบบเป็นสำคัญ
มูลค่าการส่งออกสินค้า
ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัวตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
โดยการส่งออกปรับดีขึ้นในทุกหมวดสินค้าหลัก ส่งผลดีต่อเนื่องให้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวสูงจากการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ
โดยการผลิตยางพาราแปรรูปกลับมาขยายตัวสูง ตามอุปสงค์ยางแท่งที่เพิ่มขึ้น
และส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อนที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ระลอกแรก ขณะที่การผลิตไม้ยางพาราแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และถุงมือยางขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งกลับมาขยายตัว จากสินค้าหมวดปลาเป็นสำคัญ
ภาคการท่องเที่ยว
หดตัวสูงต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังคงหดตัวสูง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่อย่างไรก็ดี
การท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยปรับดีขึ้น หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ระลอกสองคลี่คลายลง สะท้อนจากอัตราการเข้าพักและจำนวนเที่ยวบินในประเทศที่เพิ่มขึ้น
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป กลับมาเป็นบวกที่ร้อยละ 0.36
จากที่ติดลบในเดือนก่อนโดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น
ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับหมวดอาหารสดหดตัวน้อยลง
จากราคาเนื้อสัตว์เป็ดไก่และสัตว์น้ำ รวมถึงราคาผักและผลไม้ที่เพิ่มขึ้น
ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยจากภาวะแล้ง ด้าน ตลาดแรงงาน ยังคงเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับสูง
ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 เงินฝากคงค้าง ยังคงขยายตัวสูงใกล้เคียงเดือนก่อนจากเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ส่วนหนึ่งจากความต้องการรักษาสภาพคล่องของทั้งธุรกิจและรายย่อย ด้าน สินเชื่อคงค้าง ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนเช่นกัน จากสินเชื่อประเภทเงินให้กู้ส่วนหนึ่งจากสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้.