ธ.ไทยพาณิชย์ สนับสนุนโครงการพระเมตตาสมเด็จย่าเชิดชูเกียรติครูดีเด่น
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, การศึกษา, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 7 มิ.ย. 2566, 22:15 น. อ่าน : 770 กรุงเทพฯ
-
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สนับสนุนโครงการพระเมตตาสมเด็จย่าจัดพิธีมอบ
“รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552
เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละความสุขส่วนตัว
เพื่อส่วนรวมในท้องถิ่นทุรกันดารและห่างไกลมาโดยตลอด ทำหน้าที่
“ครูที่เป็นมากกว่าครู”
เป็นแบบอย่างของการพัฒนาเยาวชนและประชาชนให้เป็นคนดีและคนเก่งตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
โดยกำหนดจัดให้มีพิธีมอบรางวัลในวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ของทุกปี
คณะกรรมการโครงการครูดีเด่น
“รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ซึ่งมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์
พานิช เป็นประธาน ได้พิจารณาคัดเลือกครูผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม
มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นขวัญ
และกำลังใจ จาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)
และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) หน่วยงานละ 3
รางวัล รวมปีละ 9 รางวัล
ซึ่งการพิจารณาเป็นไปอย่างเข้มข้นทั้งการลงไปดูผลงานในพื้นที่และการสัมภาษณ์เชิงลึก
ในปี 2566 (รุ่นที่ 15) มีครูที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณารับรางวัลเพียง 8 ท่าน ดังนี้
ครูสังกัดหน่วยงานสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
(กศน.) ได้แก่ นางสุชดาพร ธิวงศ์สา ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”
บ้านพะโท ต.แม่กิ๊ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน นางสาวอุปะพร พินิจกุล ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา
“แม่ฟ้าหลวง” บ้านนุกะโถะวา ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก นายมะรอซะดี แซมะแซ
ศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบาเจาะ ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ
จ.นราธิวาส
ครูสังกัดหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(สพฐ.) ได้แก่ นายสมชาติ แผ่อำนาจ โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” ต.บ้านกาศ
อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นางวารุณี พรมฝ้าย โรงเรียนบ้านอูล่อง ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
นางพอสีหย๊ะ กือจิ โรงเรียนบ้านกือเม็ง ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา
ครูสังกัดหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
(ตชด.) ได้แก่ ดาบตำรวจนฤดล ดำริเลิศวรกุล
ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอินทรีอาสา (บ้านห้วยปุ้ม) ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ
จ.พะเยา พันตำรวจตรี อภิเจตน์ ปานแก้ว
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนพลเอกนวล–คุณหญิงบานชื่น จันทร์ตรี ต.ธารคีรี
อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องเลื่อนพิธีมอบรางวัลออกไป ในปี 2566
นี้สถานการณ์ได้คลี่คลายลง
ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้ร่วมกับโครงการพระเมตตาสมเด็จย่าจัด พิธีมอบ
“รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี 2563-2566 (รุ่นที่ 12-15)
รวม 4 รุ่น ซึ่งตรงกับปีมหามงคลที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นปีเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100
ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก นับเป็นความภูมิใจยิ่งแก่ครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้
โดยมี ดร.สุรพงษ์ ไชยวงศ์
รองประธานกรรมการโครงการรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เป็นประธานในพิธี และมี นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารหน่วยงานต้นสังกัด (สพฐ. ตชด.
และกศน.) หน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) บริษัท โกลด์ซิตี้ฟุตเทค จำกัด
สภากาชาดไทย กรมปศุสัตว์ เข้าร่วมแสดงความยินดีและให้กำลังใจในงาน ณ หอประชุมมหิศร
ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
พร้อมกันนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้ร่วมกับโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า จัดค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่ครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ตั้งแต่รุ่นที่ 1-15 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน จ.ชลบุรี โดยมี มูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ครูเจ้าฟ้าฯ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน เกิดการสร้างเครือข่ายครูเจ้าฟ้าฯ และเพิ่มเติมทักษะที่จำเป็น อาทิ ทักษะการสอนภาษาไทย ทักษะการสร้างสื่อการสอนด้วยเทคโนโลยีครูทูบเบอร์ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ พร้อมเสริมทักษะการเงินพอเพียงเพื่อชีวิต รวมถึงเทคนิคการฝึกสมองเพื่อเรียนรู้และจดจำ เป็นต้น ซึ่งครูเจ้าฟ้าฯ สามารถนำไปต่อยอด พัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาลูกศิษย์ในพื้นที่ของตนเองต่อไป
ครูเจ้าฟ้าฯ
ทุกท่านได้ทำงานด้วยความเสียสละ
ช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสและชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล
ไม่เพียงแต่การให้วิชาความรู้ แต่ยังดูแลความเป็นอยู่ สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
และช่วยให้ชุมชนมีการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งสมควรได้รับการเผยแพร่คุณงามความดี
และยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นแม่พิมพ์ และแบบอย่างที่ดีแก่ครู นักเรียน
และประชาชนต่อไป.