“นิพนธ์” ยกระดับการบำบัดน้ำเสียเกาะสมุย
หมวดหมู่ : การเมือง, สุราษฎร์ธานี, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 26 ก.ย. 2563, 16:24 น. อ่าน : 1,630นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย (มท.2) ลงพื้นที่ติดตามและรับฟังแนวทางการแก้ไขการจัดการน้ำเสียในพื้นที่ของเทศบาลนครเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อสายวันที่ 25 ก.ย. 2563 โดยมี นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรค ปชป. นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำเสียของเทศบาลนครเกาะสมุย และสถานการณ์ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยของชุมชน
นายนิพนธ์ กล่าวว่า มาติดตามความคืบหน้าการจัดการน้ำเสียบนเกาะสมุย โดยเมื่อวันอังคารที่ 22 ก.ย. 2563 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียขององค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) เพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศให้ดำเนินไปอย่างมีมาตรฐานและเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษทางน้ำได้ทันสถานการณ์ ที่ผ่านมารัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างจริงจัง แต่ยังดำเนินการได้ไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด ทำให้ อจน.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียของชุมชนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบได้
“รัฐบาลอยากเห็นการบริหารจัดการน้ำเสียในทุกๆ จังหวัด
โดยให้นำแนวคิดในการออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้
โดยใช้พื้นที่ส่วนใต้ดินเป็นระบบบำบัดน้ำเสีย
ส่วนพื้นที่ด้านบนจะใช้ประโยชน์เป็นสนามฟุตซอลหญ้าเทียมสำหรับเยาวชนได้ออกกำลังกาย
โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดได้คุณภาพตามมาตรฐานนำมาใช้ประโยชน์ได้ในกิจกรรมต่างๆ ได้ และเพิ่มโอกาสเชิงพาณิชย์ในการบริการหรือกิจการเกี่ยวเนื่องในพื้นที่บำบัดน้ำเสีย
เช่น การนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
การผลิตพลังงานจากน้ำเสีย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณภาครัฐ
โดยใช้วิธีการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนควบคู่กับการจัดเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียม
หรือค่าบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียให้เกิดผลเป็นรูปธรรม” มท.2 กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า
ส่วนการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาวคนในแต่ละชุมชนต้องมีส่วนร่วมในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย
การมีส่วนร่วมของประชาชนที่ช่วยลดความสกปรกจากบ้านเรือนด้วยตนเองเป็นการลดความสกปรกในเบื้องต้น
สามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียให้สำเร็จตามเป้าหมายพร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้
ความเข้าใจ เพื่อป้องกันปัญหาเดิมที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตควบคู่กันไปด้วย
ขยายผลไปสู่การดำเนินการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน.