ประมงโพงพางสงขลา ยื่นข้อเสนอตั้งคณะทำงานเสนอ ครม.แก้ปัญหา

หมวดหมู่ : สงขลา,

อ่าน : 385
ประมงโพงพางสงขลา ยื่นข้อเสนอตั้งคณะทำงานเสนอ ครม.แก้ปัญหา
ประมงโพงพางสงขลา ยื่นข้อเสนอตั้งคณะทำงานเสนอ ครม.แก้ปัญหา

สงขลา-แกนนำกลุ่มชาวประมงโพงพาง บ้านหัวเขา อ.สิงหนคร ยื่นข้อเสนอให้จังหวัดช่วยเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหา โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูลเสนอ ครม. ขอมติให้ทะเลสาบสงขลาเป็นเขตพื้นที่การประมงพิเศษ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.50 น. ณ ศาลากลางจังหวัดสงขลา  ชาวประมงบ้านหัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ยอมสลายการชุมนุมเปิดท่าแพขนานยนต์แล้ว ตั้งแต่เวลา 08.50 น. จากนั้นแกนนำราว 20 คน เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมหารือแนวทางแก้ปัญหาเพื่อความยั่งยืนหลังโพงพางทะเลสาบสงขลากลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน โดยมีนายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พล.ต.ต.เชาวลิต เลี้ยงสุพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ปลัดจังหวัดสงขลา นายอำเภอสิงหนคร ประมงจังหวัดสงขลา เจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา กอ.รมน.จังหวัดสงขลา สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม  

สำหรับข้อเสนอของกลุ่มชาวประมงบ้านหัวเขา ที่ยื่นเสนอต่อจังหวัด ประกอบด้วย 1. เรียกร้องขอให้คืนอาชีพประมงโพงพางกลับมาเหมือนเดิม ให้ชาวบ้านได้ทำมาหากินได้ตามปกติ 2. ขอให้มีการกำหนดเขตร่องน้ำเดินเรือให้ชัดเจน 3. ขอให้ตำรวจน้ำ และประมงจังหวัดมีมาตรการผ่อนปรนในการบังคับใช้กฎหมายกับชาวประมง และ 4. หากจำเป็นต้องมีการรื้อถอนโพงพาง รัฐต้องมีมาตรการเยียวยาที่สมเหตุสมผลด้าน

นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประธานที่ประชุม ได้กล่าวขอบคุณชาวประมงบ้านหัวเขาที่เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไป ยอมสลายการชุมนุมเปิดท่าแพขนานยนต์ให้สามารถกลับมาให้บริการได้ตามปกติ พร้อมทั้งชี้แจงว่า การจะแก้ไขปัญหาโพงพางทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องร่วมพูดคุยหารือสร้างความเข้าใจกันทุกฝ่ายทั้งรัฐและชาวบ้าน จำเป็นต้องใช้การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายทั้งระบบ ยืนยันอีกครั้งว่าจังหวัดไม่เคยมีความคิดที่จะใช้ความรุนแรง หรือจัดกำลังไปปะทะกับชาวบ้าน แต่ทุกอย่างจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา จังหวัดสงขลาได้ทำหนังสือจำนวน 7 ฉบับ นำเรียนปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงไปยัง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมประมง และอธิบดีกรมเจ้าท่า เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการปัญหาเชิงนโยบายให้ครอบคลุมทุกมิติในระยะยาว

ส่วนการเยียวยารื้อถอนโพงพางนั้น จังหวัดไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ โดยจังหวัดสามารถรวบรวมปัญหาเสนอต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาความเห็นชอบออกเป็นมติ ครม. ผ่านโครงการพัฒนาทะเลสาบสงขลาได้ เช่นเดียวกับการเยียวยาแก้ปัญหาการนำเรือประมงออกนอกระบบ ซึ่งรัฐบาลเคยทำมาแล้ว อีกทางหนึ่งจะการผลักดันผ่านนักการเมือง โดยใช้กลไกของรัฐสภาร่วมแก้ปัญหาที่ประชุมยังเห็นชอบกับข้อเสนอของ นายสุนทรวงศ์หมัดทอง ผู้นำศาสนาและนักวิชาการอิสระ ที่เสนอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้สั่งการในที่ประชุมตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธาน มีประมงจังหวัด เจ้าท่า ตัวแทนชาวประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการหารือกลุ่มย่อย รวบรวมข้อมูลภาพรวมของจังหวัดเพื่อเสนอต่อ ครม. ขอมติให้ทะเลสาบสงขลาเป็นเขตพื้นที่การประมงพิเศษ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน

ส่วนกรณีชาวประมง 2 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำจับกุม เมื่อวันที่25 พฤษภาคม 2567 นั้น ขณะนี้ชาวประมง 2 ราย พร้อมเรือของกลาง 2 ลำ ทาง สภ.เมืองสงขลาได้อนุญาตให้ประกันออกไปแล้ว แต่เรื่องที่ชาวบ้านเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวประมงทั้ง 2 ราย พร้อมขอให้ผ่อนปรนเรื่องการจับกุมชาวประมงขณะจับสัตว์น้ำ และขอคืนโพงของกลางอีก 7 ปาก เรื่องนี้ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และประมงจังหวัดสงขลา กล่าวเช่นเดียวกันว่า ขอให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถดำเนินการนอกกรอบของกฎหมายได้ อย่างเรื่องของกลางโพงพาง 7 ปาก เนื่องจากเป็นของกลางประมงผิดกฎหมาย ตามมาตรา 67 พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ชาวประมงโปรดเข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย แต่จะทำให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ภายหลังการพูดคุย กลุ่มชาวประมงบ้านหัวเขาได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีความเข้าใจในกรอบการทำงานของภาครัฐ พร้อมขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาที่ไม่มองชาวประมงเป็นอาชญากร และไม่นิ่งนอนใจ พยายามหาแนวทางแก้ปัญหาช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงอย่างต่อเนื่อง ให้ยังคงประกอบอาชีพได้ เพื่อให้ปัญหาโพงพางทะเลสาบสงขลา ได้รับการแก้ไขเป็นไปอย่างเป็นธรรม ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นชอบทำให้การประชุมจบลงด้วยความเรียบร้อยชาวประมงมีความพึงพอใจ.




อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :