ปลุก”ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” ประมงพื้นบ้านนำรณรงค์
หมวดหมู่ : ปัตตานี, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 29 พ.ค. 2565, 17:00 น. อ่าน : 756ชาวประมงพื้นบ้านร่วมใจ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” เดินสายจัดกิจกรรมและเสวนาปัญหาสัตว์น้ำวัยอ่อนและปัญหาประมงในแต่ละพื้นที่จังหวัดต่างๆ ก่อนล่องเรือจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ายื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สัปปายะสภาสถาน กรุงเทพฯ เริ่มต้นเดินจาก อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม-8 มิถุนายน 2565
ชาวประมงพื้นบ้านเริ่มกิจกรรม “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ออกเดินทางจากหาดปานาเระ จังหวัดปัตตานี และจะล่องเรือจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 6 มิถุนายน เพื่อยื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกำหนดนโยบายและประกาศมาตรการควบคุมการ ซื้อ-จับ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อแก้วิกฤตอาหารทะเลไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับวันที่ 29 พ.ค. 2565 เวลา14.00 น.ที่ชมรมประมงพื้นบ้าน จ.สตูล เลขที่ 170 หมู่ที่4 ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูลนายอารีย์ ติ้งหวัง ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน จ.สตูล เปิดเสวนา”ทวงคืนน้ำพริกปลาทู”โดยมีนายเหลด เมงไซตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านจากอ.ท่าแพ จ.สตูล เป็นแกนหลักในการเสวนา มีชาวประมงพื้นบ้านร่วมฟังประมาณ 100 คน จากนั้นเวลา 15.25 น. กลุ่มรณรงค์ได้เดินทาง มีชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล ร่วมเดินทางสมทบอีก 50 คน เพื่อเดินทางต่อไปยัง จ.ตรัง และจังหวัดต่างๆ จนถึงจุดลงเรือที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ล่องเรือเข้ากรุงเทพฯ
ปัจจุบัน ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในทะเลไทยมีมวลรวมอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี แต่ปริมาณสัตว์น้ำที่มีขนาดเหมาะกับการนำมาบริโภคของมนุษย์มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์น้ำคุณภาพต่ำที่จะถูกป้อนเข้าโรงงานอาหารสัตว์และตลาดแปรรูป
“ปลาทู” เป็นหนึ่งในตัวอย่างอาหารทะเลไทยที่กำลังจะหายไป ในปี พ.ศ. 2557 ประมงไทยจับปลาทูได้ 128,835 ตัน แต่ในปี 2562 จับได้ 24,374 ตัน และในปี 2563 เหลือเพียง 18,436 ตันเท่านั้น ขณะเดียวกัน ตัวอ่อนปลาทู รวมถึงตัวอ่อนของอาหารทะเลอื่น ๆ กลับถูกพบวางขายในห้างและตลาด ในรูปแบบสินค้าแปรรูป เช่นปลาสายไหม ปลาข้าวสาร
หากสถานการณ์โดยรวมของอาหารทะเลไทยยังอยู่ในภาวะเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องกับระบบนิเวศและชุมชนชายฝั่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะเข้าถึงอาหารทะเลที่มีคุณภาพสูงได้น้อยลง กิจกรรมรณรงค์ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู - หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน” จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐกำหนดนโยบายและประกาศมาตรการควบคุม และส่งเสริมให้ผู้ขาย ผู้บริโภค และชาวประมงตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างจริงจัง
นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และหนึ่งในชาวประมงที่จะเดินทางมายื่นหนังสือกล่าวว่า การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนทำให้ประมงพื้นบ้านที่เป็นประมงขนาดเล็กได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาที่แพงขึ้น การรณรงค์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงทางอาหารในอนาคต
“ทุกภาคส่วนควรเข้าถึงทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเท่าเทียม โดยมีสามส่วนหลัก ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ คือ รัฐ คนจับ และผู้บริโภค สามส่วนนี้ต้องสัมพันธ์กัน รัฐต้องดูเรื่องข้อกฎหมาย ทำอย่างไรให้ทุกคนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งประมงขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ชาวประมงต้องตระหนักเสมอว่าวิธีการทำประมงต้องทำอย่างยั่งยืน ส่วนผู้บริโภคก็จะต้องมีรับผิดชอบ ไม่สนับสนุนการทำประมงที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อน”นายปิยะกล่าว
ด้านนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า อาหารทะเลเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์ทางสารอาหารสูง และเป็นผลผลิตธรรมชาติของเกษตรกรประมงไทย แต่ผู้บริโภคเริ่มเข้าถึงอาหารทะเลสดได้ยากขึ้นอาหารทะเลสดมีราคาสูงจนผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางอาจได้ทานอาหารทะเลในโอกาสสำคัญๆเท่านั้น ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย และเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้มแข็ง จึงควรตระหนักถึงปัญหาแล้วประกาศมาตรการควบคุม เชื่อว่าเมื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะสามารถเพิ่มปริมาณอาหารทะเลให้มีคุณภาพมากขึ้นราคาอาหารทะเลลดลงจนถึงระดับที่เหมาะสมผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น
สำหรับกิจกรรม “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ชาวประมงพื้นบ้านจะเริ่มออกเดินทางจากหาดปานาเระ จังหวัดปัตตานี โดยระหว่างทางจะมีการจัดกิจกรรมและเสวนาปัญหาสัตว์น้ำวัยอ่อนและปัญหาประมงในแต่ละพื้นที่ ก่อนล่องเรือจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ายื่นหนังสือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สัปปายะสภาสถาน กรุงเทพฯ.