ผวจ.พัทลุง สั่งแก้ปัญหาบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ จัดการนายทุนที่บุกรุก
หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 25 พ.ค. 2563, 21:22 น. อ่าน : 1,548 ผวจ.พัทลุง
ยืนยันใช้กฎหมายบังคับใช้จัดการกับผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ไม่เคารพกฎกติกา
ด้านอดีตนายก อบต.ชัยบุรี ประกาศแจ้งความกับผู้บุกรุกที่เข้าไปสร้างที่ทำกินในช่วงที่มีการตรวจสอบที่ดินแปลงนี้
ความคืบหน้ากรณีชาวบ้านในท้องที่
ม.2, 4, 5, 7 ต.ชัยบุรี และท้องที่ ม.8, 11 ต.ลำปำ อ.เมืองพัทลุง ประมาณ 2,000
ครัวเรือน เข้าไปถือครองที่ดิน “ควนท่าสำเภาสาธารณประโยชน์” จำนวน 3,727 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ในความดูแลของฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทย
เพื่อสร้างเป็นที่ทำกินมากกว่า 3,500 ไร่ มานานกว่า 10 ปี
โดยผิดกฎหมาย จนมีชาวบ้านร้องเรียนให้ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4
ส่ง จนท.กอ.รมน.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ
พบว่ามีการบุกรุกจริง และ นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์
ผวจ.พัทลุง ทราบเรื่อง จึงลงพื้นที่ตรวจสอบและแสดงความไม่พอใจฝ่ายท้องถิ่นที่ไม่รายงานเรื่องดังกล่าวให้ทราบ
เนื่องจากการลงพื้นที่พบว่ามีการบุกรุกจริง และนำปัญหาดังกล่าวเข้าที่ประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด
เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
เมื่อตอนสายวันที่ 25 พ.ค.2563 นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง
ได้เป็นประธานในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ที่ห้องประชุมแพรทอง ศาลากลางจังหวัดพัทลุง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว
และเปิดเผยหลังจากการประชุมว่า เบื้องต้นต้องสำรวจว่าการเข้าไปทำกินในที่ดินดังกล่าวมีความเป็นมาอย่างไร
มีโครงการรองรับหรือไม่ ส่วนโครงการที่จะให้คนจน คนยากไร้
เข้าไปสร้างที่ทำกินได้หยุดชะงักไปนานแล้ว
จนทำให้ชาวบ้านที่เข้าไปทำกินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทางจังหวัดจะหาทางออกให้กับกลุ่มชาวบ้านต่อไป ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้ทางอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ได้เข้าไปดูแลการบุกรุกตามอำนาจและหน้าที่แล้ว
ทั้งกลุ่มชาวบ้านที่เข้าไปสร้างที่ทำกินในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
ส่วนจะมีการยกเลิกการถือครองของที่ดินดังกล่าวหรือไม่นั้น
จะต้องรอผลการตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ถือครองในที่ดินมากน้อยแค่ไหน
โดยเฉพาะการบุกรุกสร้างสวนปาล์มน้ำมันของคนในพื้นที่และนอกพื้นที่
ส่วนการบุกรุกในครั้งนี้มีมากกว่า
1,000 ราย ทางจังหวัดจะให้ความสำคัญการยึดเอาพื้นที่ดังกล่าวมาให้กับคนยากไร้
คนยากจน และผู้ที่เข้าไปบุกรุกยึดถือครองในที่ดินทั้ง 3,727ไร่นั้น พบว่าไม่มีใครที่มีเอกสารสิทธิ์การถือครอง
ต้องรื้อฟื้นการใช้ที่ดินดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
จะให้คนใดคนหนึ่งเข้ายึดครองเป็นของตนเองไม่ได้โดยเด็ดขาด และกรณีการสร้างสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่บุกรุกเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่
จะต้องดูว่าเป็นของใคร มาจากไหน ยากจนหรือไม่
หากเป็นของคนจนเป็นรายเล็กรายน้อย ทำต่อเนื่องก็ต้องดูแลกันไปตามความเหมาะสม
ส่วนจะมีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้บุกรุกหรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับกฎกติกาที่ทุกฝ่ายร่วมกันกำหนดขึ้น
ใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
ใครเคารพกฎกติกาจะเป็นบุคคลที่จะได้รับการดูแล
ด้าน นายสุพัฒน์
มุลเมฆ อดีตกำนัน ต.ชัยบุรี และอดีตนายก อบต.ชัยบุรี
อ.เมืองพัทลุง ผู้ทรงคุณวุฒิการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวฯ
เปิดเผยว่า มีการขุดคันดินรอบๆ พื้นที่ดังกล่าวในปี 2533–2536
เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดเข้าไปบุกรุกที่ดินดังกล่าว โดยจะให้ ม.ทักษิณ
วิทยาเขตพัทลุง ใช้ที่ดินเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยฯ แต่เมื่อ ม.ทักษิณ
ไม่ได้ใช้ ตนในฐานะนายก อบต.ชัยบุรี
จึงได้นำที่ดินดังกล่าวเข้าร่วมโครงการจัดที่ดินของรัฐ ขจัดปัญหาความยากจน
ตามหนังสือของกระทรวงหาดไทย ที่ มท.0511.4/ ว.3000
ลงวันที่ 24 กันยายน 2557 เสนอให้จังหวัดฯ
โดยมีผู้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวของท้องที่ ม.2, 4, 5 และ 7 ต.ชัยบุรี เข้าร่วมโครงการ
397 ราย จำนวน 514 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ และทางจังหวัดฯ ได้ใช้งบประมาณยุทธศาสตร์จำนวน
4 ล้านบาทเศษ เข้ามาปรับพื้นที่ให้ชาวบ้านได้ทำมาหากินด้วย ต่อมาได้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร
การขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวจึงหยุดลง
จนนำไปสู่การบุกรุกเข้าไปถือครองเพิ่มเติมจนเต็มพื้นที่ดังกล่าว
“เมื่อทางจังหวัดได้สั่งการให้ทางอำเภอ
และ อปท.ร่วมกันสำรวจการบุกรุกในที่ดินดังกล่าวนี้ ผมจะประสานกับผู้นำท้องถิ่น
ผู้นำท้องที่ เพื่อห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปบุกรุก
หรือนำเครื่องจักรกลเข้าไปสร้างที่ทำกินโดยเด็ดขาด หากพบการกระทำความผิด
ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่งจะเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวด้วยตนเอง
ส่วนชาวบ้านที่เดินเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าเข้าไปในที่ดินแห่งนี้
ผมจะขอร้องให้ทุกรายรื้อถอนให้เสร็จสิ้นภายใน 1 - 2 วันนี้ ในส่วนของต้นเหตุของเรื่องดังกล่าวจนนำไปสู่เรื่องฉาวโฉ่ในครั้งนี้
มาจากความขัดแย้งของการเก็บผลผลิตของปาล์มน้ำมันของเครือญาติ
ที่ไปสร้างที่ทำกินในที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว
จนนำไปสู่การใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่กันและมีการแจ้งความกันในที่สุด
หากทางจังหวัดจะยึดถือหลักฐานการขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว
จะมีพื้นที่เหลืออีกมากกว่า 2,000 ไร่
ส่วนจะดำเนินการกับผู้บุกรุกที่นอกเหนือกลุ่มชาวบ้านทั้ง 397 ราย
เป็นเรื่องของจังหวัดฯ ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” นายสุพัฒน์ กล่าว.