ฟื้นงานศพใหญ่ใช้ช้างพลายนำขบวนหามศพ คุณยายทวดวัย 92 ปี
หมวดหมู่ : ตรัง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 29 ก.ค. 2565, 09:00 น. อ่าน : 689ตรัง- ประเพณีสุดยิ่งใหญ่ ใช้ช้างพลาย 3 เชือกนำขบวนหามศพ “คุณทวดกวน” วัย 92 ปี โดยพิธีโบราณซึ่งใช้ไม้คันหาม แทนการใช้รถยนต์ จากบ้านไปวัด ระหว่างทางได้มีการทำพิธี “แย่งศพ” ระยะทางกว่า 2.7 กม. ท่ามกลางความสนุกสนาน ไร้ความโศกเศร้าเสียใจ ท่ามกลางสายฝนตกหนักชุ่มฉ่ำตลอดเส้นทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค.65 เวลา 15.30 น. ได้เดินทางชมพิธีจัดงานศพแบบโบราณซึ่งไม่มีมานานมากแล้ว ที่บ้านเลขที่ 72 หมู่ 7 บ้านทุ่งแกเจ้ย ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นสถานที่ใช้บำเพ็ญกุศลศพของคุณทวดกวน สุขคุ้ม อายุ 92 ปี เสียชีวิตจากโรคชราเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 100 คนบรรดาลูกหลาน ญาติ คนสนิทชิดเชื้อ ต่างได้ร่วมกันทำไม้คันหาม ซึ่งเป็นการนำไม้ไผ่กำยาน ตัดให้ได้ขนาด ประมาณ6 ท่อน และนำมามัดในลักษณะคล้ายตะแกรง ด้วยการใช้ต้นระกำ แทนการใช้เชือก เนื่องจากมีความเหนียว ทนทานก่อนจะนำหีบศพที่บรรจุร่างทำด้วยไม้จันทร์ โดยมีพระครูภัทรธรรมาภรณ์ หรืออาจารย์หลวงภพ เจ้าอาวาสวัดเขาเหล็ก อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช มีจิตเมตรามอบหีบศพที่ทำด้วยไม้จันทร์มาบรรจุร่าง ซึ่งเป็นไม้ที่หายาก หรือถือเป็นของพรีเมียม เป็นหีบศพที่ราคาแพง และหายาก ซึ่งเมื่อหีบศพไม้จันทร์ติดไฟแล้วจะมีกลิ่นหอม มาตั้งไว้บนไม้คันหาม และมีการผูกยึดด้วยต้นระกำแทนเชือก
จากนั้นบุตรหลานซึ่งเป็นผู้ชาย ร่างกายแข็งแรง กำยำล่ำสัน กว่า 10 คน จะแบกหามไม้คันหาม ที่มีหีบศพตั้งอยู่ด้านบน หามศพกันไปตามถนนหมู่บ้าน เพื่อจะนำร่างไปเก็บรักษาไว้ที่วัดควนศรีนวล หมู่ 5 ต.นาข้าวเสีย ซึ่งจะทำการฌาปนกิจ หรือเผาร่างในช่วงหลังจากออกพรรษา ระยะทางกว่า 2.7 กิโลเมตร ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาตลอดทาง
ส่วนขบวนนำศพ มีขบวนช้างจำนวน 3 เชือก ได้แก่ช้างพลายแสนดี , พลายกล้วย และพลายเมฆสุวรรณ ที่นำมาจาก 3 อำเภอ ของ จ.ตรัง เดินนำขบวนศพ และนิมนต์พระภิกษุนั่งรถซาเล้งสามล้อพ่วงข้าง เป็นพระสงฆ์คอยสวดและโปรยข้าวสารเพื่อเป็นการนำทางให้กับผู้วายชนม์ ในตลอดขบวนบรรดาญาติของผู้เสียชีวิต จะทำพิธีการแย่งศพคือการที่บรรดาลูกหลานทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่จะมีการยืดยุดฉุดกระชากคันหาม เพื่อเป็นการยื้อแย่งศพ โดยหวังต่างก็จะนำศพไปเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลเอง ซึ่งเป็นพิธีโบราณที่หาดูได้ยาก ท่ามกลางความสนุกครึกครื้น
ตลอดระยะทางกว่า 2.7 กิโลเมตร ระหว่างทางที่จะมาถึงบริเวณลานหน้าศาลาบำเพ็ญกุศลศพภายในวัดบรรดาลูกหลานที่ถือไม้คันหาม ต่างได้ทำพิธีแย่งศพกันอีกครั้ง พร้อมทั้งมีการเต้นรำตามจังหวะดนตรีกลองยาว ทำให้ช้างพรายแสนดี วัย 22 ปี ได้เต้นตามจังหวะดนตรีด้วยเช่นกัน สร้างความสนุก โดยไม่มีใครภายในงานเศร้าโศกแม้แต่เพียงคนเดียว
นายสมโชค สุขคุ้ม หรือโกโชค อายุ 60 ปี ข้าราชการทหารบำนาญ บุตรชายคนที่ 6 ของคุณทวดกวน กล่าวว่า วันนี้เป็นการเคลื่อนศพแม่จากบ้านมาที่วัด โดยพิธีโบราณ แทนการใช้รถยนต์ ตามปกติแล้วส่วนใหญ่ในอดีตที่ผ่านมาหมู่บ้านของตน เป็นชุมชนเล็กๆ ไม่มีถนน จะมีทางขนาดเท่าคนเดินเท่านั้น ซึ่งคนในชุมชนจะเรียกว่าทาง พรี กว้างประมาณ 3 เมตร เวลาจะเคลื่อนศพมาที่วัดนั้น จะต้องใช้วิธีการหาม วัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งในการหามศพ ยังเป็นการให้ลูกหลานได้มีความรักความสามัคคี จากภาพที่ได้เห็นก็สามารถบรรยายได้ว่าการมีส่วนร่วมในตรงนี้มีความกลมเกรียวกัน ส่วนพิธีแย่งศพที่ทำในวันนี้เป็นการทำให้เหมือนของโบราณ คือในอดีตบรรดาบุตรหลานมีบ้านกันอยู่คนละทิศละทาง ก็อยากจะนำร่างของบรรพบุรุษไปเป็นเจ้าภาพเอง ก็จะมีการยื้อแย่งกัน หากฝ่ายไหนมีกำลังมากกว่าก็จะได้ศพไปบำเพ็ญกุศล
นายสมโชค กล่าวอีกว่า ประเพณีดังกล่าวมีมาตั้งแต่สมัยอดีต แต่ในชุมชนคิดว่าน่าจะไม่มีมากว่า 30 ปีแล้วส่วนใหญ่ก็จะไม่มีใครทำแล้ว เพราะว่าถนนหนทางสะดวก จะเป็นการเคลื่อนย้ายด้วยรถ ตนจึงคิดจะย้อนความเป็นดั่งเดิมของชุมชน ซึ่งพิธีอย่างนี้ส่วนใหญ่ศพที่หามจะเป็นผู้สูงอายุ ความรู้สึกที่เห็นลูกหลานมาช่วยกันเยอะ รู้สึกภูมิใจและถือเป็นเกียรติของครอบครัวและตระกูล ส่วนการที่นำช้างพรายมานำหน้าขบวนหามศพ มีความเชื่อว่าจะนำมารดาไปในภพภูมิที่ดี เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ก็ยังถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่
“ครอบครัวผมมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็นผู้ชาย 6 คน และผู้หญิง 2 คน ก่อนคุณแม่จะเสียชีวิตได้สั่งเสียว่า หากแม่สิ้นลมหายใจแล้ว ลูกๆไม่ต้องเสียใจ เพราะแม่อยู่กับลูกๆมานานแล้ว แม่สั่งสอนว่าลูกทุกคนจะต้องมีความขยัน ให้ลูกทุกคนรักกัน แม่เป็นคนที่มีจิตใจดีมาก และชอบช่วยเหลือเด็กๆ เนื่องจากแม่ได้มีวิชาเวชมนต์คาถาจากบรรพบุรุษในการช่วยเหลือเด็กที่ป่วยไข้ เป็นพยาธิ ท้องโต โดยใช้คาถาเป่าลงไปก็จะหาย แม่ใช้ชีวิตไม่เครียด กินอาหารพื้นบ้าน น้ำพริกผักลวก ไม่กินข้าวจากโรงสี กินข้าวซ้อมมือ ทำให้อายุยืนยาว”นายสมโชคกล่าว
ขณะที่ นายธวัส ใหม่สวัสดิ์ หรือหลวงวัส อายุ 55 ปี ควาญช้างพลายแสนดี ซึ่งเป็นช้างสีดอ ที่นำมาร่วมในพิธีหามศพ กล่าวว่า ประเพณีที่นำช้างมานำศพถือว่าเป็นบารมีแก่เจ้าภาพ และชาวบ้าน เพราะการนำช้างมานำศพนับวันก็ไม่ไม่ค่อยเห็นแล้ว และงานนี้ถือว่าเป็นงานแรกในชุมชน ซึ่งช้างทุกเชือกที่นำมานิสัยดี ไม่ก้าวร้าว.