มท. 4 เผยแผนปรับลดกำลังใน 3 จชต. เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหมดสิ้นปี 2570
หมวดหมู่ : ยะลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 1 ก.ค. 2566, 15:00 น. อ่าน : 597ยะลา-แม่ทัพภาคที่ 4 เผยแนวทางปรับลดกำลังทหาร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทะยอยปรับลดกำลังทหารพรานจากกองทัพภาคที่ 1-3 กลับที่ตั้งปกติทั้งหมด ควบคู่ไปกับการปรับลดพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตั้งเป้าจะให้หมดสิ้นไปภายในปี 2570 สำหรับกองทัพภาคที่ 4 และกำลังในส่วนอื่นๆ ก็จะทยอยปรับลดหรือปรับเปลี่ยนภารกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ตามห้วงระยะเวลา
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. พล.ท.ศานติ สกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.รมน.ภาค 4 เปิดเผยถึง แนวทางปรับลดกำลังทหาร 3 จชต.ว่า สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ จชต.ผ่านมากว่า 19 ปี นับแต่ปี 2547-2553 กองทัพภาคที่ 4 ได้ใช้กำลังทหารเป็นกำลังหลัก รวมทั้งได้เพิ่มเติมกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1-3 เพื่อเข้ามาควบคุมสถานการณ์และยุติสภาพปัญหา โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้าใจ ปรับทุกข์ ผูกมิตร และช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่างๆ จนสามารถสร้างความเชื่อมั่น และไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงและมีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ
จนเข้าสู่ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2554 - ปัจจุบัน แนวทางการแก้ไขปัญหา จชต. กองทัพได้มุ่งเน้นเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กำลังฝ่ายพลเรือนและกำลังตำรวจ ด้วยการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ตำรวจ 1,700 นาย จัดตั้งเป็นหมวดปฏิบัติการพิเศษ ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในเขตพื้นที่เมืองทั้ง 37 อำเภอ และการเพิ่มอัตรากำลังสมาชิกอส.กว่า 7,000 นาย จัดตั้งเป็น ชคต. 164 ชุด ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชนโดยปฏิบัติงานร่วมกับกำลังภาคประชาชน ช่วยดูแลพื้นที่แทนกำลังทหารที่ได้ ทยอยถอนกำลังกลับที่ตั้งปกติโดยเฉพาะทหารจากกองทัพภาคที่ 1-3 ได้ถอนกำลังกลับทั้งหมดตั้งแต่ปี 2559-2560 รวมทั้งได้ทยอยปรับลดอัตรากำลังจากหน่วยต่างๆในโครงสร้างของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในทุกๆปี ส่งผลให้ ขณะนี้สามารถปรับลดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ลงได้แล้วจำนวนกว่า 20,000 นาย
แม่ทัพภาคที่ 4 ยังเปิดเผยถึง การเตรียมแผนการปรับลดอัตรากำลังในห้วง 5 ปีต่อไป โดยจะทะยอยปรับลดกำลังทหารพรานจากกองทัพภาคที่ 1-3 กลับที่ตั้งปกติทั้งหมดควบคู่ไปกับการปรับลดพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งตั้งเป้าจะให้หมดสิ้นไปภายในปี 2570 สำหรับกำลังของกองทัพภาคที่ 4 และกำลังในส่วนอื่นๆ ก็จะทยอยปรับลดหรือปรับเปลี่ยนภารกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ตามห้วงระยะเวลา ทั้งนี้ หากสถานการณ์พัฒนาเข้าสู่สภาวะปกติ ความจำเป็นในการใช้กำลังทหารก็จะค่อยๆหมดสิ้นไปในที่สุด.