มรภ.สงขลา สืบสานวัฒนธรรมข้าวปีที่ 3 ตามแนวพระบรมราโชบาย
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 7 มี.ค. 2564, 08:05 น. อ่าน : 1,517 คณะเทคโนโลยีการเกษตร
มรภ.สงขลา เดินหน้าสืบสานวัฒนธรรมข้าวตามแนวพระบรมราโชบาย ถวายในหลวงรัชกาลที่ 10
ปีที่ 3 ตอบรับความต้องการชุมชนเกาะแต้ว
ถ่ายทอดความรู้ปลูกข้าวพื้นเมืองอินทรีย์แบบปักดำและการจัดการดินเพื่อเพิ่มผลผลิต
ดร.มงคล เทพรัตน์
คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และ 2563
ทางคณะฯ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สืบสานวัฒนธรรมข้าว
ตามแนวพระราโชบาย ถวายในหลวงรัชกาลที่ 10” ปีที่ 1 และ 2 ในพื้นที่ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง
จ.สงขลา
เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกและเก็บรักษาพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ์
เพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของชุมชนเกาะแต้ว
ที่มีความบริสุทธิ์ทางสายพันธุ์
และร่วมกันฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอันดีของการลงแขกเกี่ยวข้าว
โดยได้รับความสนใจและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรในพื้นที่อย่างไรก็ตาม
จากการสอบถามเกษตรกรพบว่า
ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกข้าวพื้นเมืองอินทรีย์แบบปักดำและการจัดการดินเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว
ซึ่งจะต้องดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี
ดร.มงคล กล่าวว่า
ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564
คณะเทคโนโลยีการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการสืบสานวัฒนธรรมข้าว ตามแนวพระราโชบาย
ถวายในหลวงรัชกาลที่ 10 ปีที่ 3 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการดิน
การเตรียมต้นกล้าข้าวเพื่อปักดำในการผลิตข้าวพื้นเมืองอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้
นอกจากนั้น
ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้ร่วมทำกิจกรรมลงแขกปักดำข้าวและลงแขกเกี่ยวข้าวในพื้นที่นาประมาณ
3 ไร่ ซึ่งเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาแต่เดิมของไทย
และพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายอย่างยั่งยืน โดยตนได้มอบหมายให้ ผศ.ดร.อมรรัตน์
ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ผศ.ดรภัทรพร ภักดีฉนวน, อ.สุเพ็ญ ด้วงทอง, ผศ.ณิศา มาชู, ผศ.ดร.ธิติมา พานิชย์, อ.ศรัณย์ รักษาพราหมณ์, ดร.ศุภัครชา อภิรติกร, ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์, อ.วิจิตรา ตุ้งซี่, อ.ปริยากร สุจิตพันธ์, ดร.อดิศรา
ตันตสุทธิกุล, อ.พงษ์ศักดิ์ มานสุริวงค์, ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล, นางเสวียน ชุมละออง
พร้อมด้วยนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิตและหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต
ร่วมแรงร่วมใจลงแขกเกี่ยวข้าวร่วมกับเกษตรกร ต.เกาะแต้ว
หลังจากได้ร่วมกันดำนามาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อหลายเดือนก่อน
ด้าน ผศ.ดร.อมรรัตน์
ชุมทอง กล่าวว่า
จากการลงพื้นที่ให้บริการวิชาการอย่างต่อเนื่องของคณาจารย์ทุกหลักสูตรของคณะเทคโนโลยีการเกษตร
ทำให้ทราบถึงสินค้าพื้นเมืองที่ถือเป็นของดีที่มีคุณค่าของชุมชนในแต่ละหมู่บ้านของ
ต.เกาะแต้ว ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะฯ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรพบเจอในด้านการเกษตร
ทั้งเรื่องการจัดการดิน การปลูก การผลิต โรคและแมลง นอกจากนั้น
ในพื้นที่ยังมีแหล่งแปลงนาตัวอย่างสำหรับเพาะปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
ให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริงประกอบการเรียนการสอน
และเป็นแหล่งรองรับการทำวิจัยในด้านการตอบสนองพันธกิจของ มรภ.สงขลา
ในการพัฒนาท้องถิ่นตามศาสตร์พระราชา
อีกทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือกันระหว่างชุมชน กลุ่มเกษตรกร และมหาวิทยาลัย
ในการพัฒนาสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้
รวมถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในการลงแขกปักดำต้นกล้าและการลงแขกเกี่ยวข้าว
โอกาสเดียวกันนี้ ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา เป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง “การใช้แกละเกี่ยวข้าว การมัดเลียงรวงข้าว” ซึ่งเป็นแปลงข้าวพื้นเมืองอินทรีย์ที่เกษตรกรและนักศึกษาร่วมกันดำนาไว้ ทั้งยังให้ความรู้เกี่ยวกับข้าวพันธุ์พื้นเมืองแต่ละสายพันธุ์ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกัน และมีคุณสมบัติที่ดีเกี่ยวกับความหอม นุ่ม และรสชาติแตกต่างกันด้วย ซึ่งคณะเทคโนโลยีการเกษตรได้เล็งเห็นและฟื้นฟูการปลูกข้าวพื้นเมืองเฉพาะถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยมี ผศ.ดร.ภัทรพร ร่วมเป็นผู้วิจัยในการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นเมืองในแหล่งที่ปลูก เพื่อช่วยไม่ให้พันธุกรรมข้าวสูญหายไปจากธรรมชาติ และเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคตต่อไป.