ม.อ. เปิดตัว “นิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย”
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 17 ส.ค. 2564, 14:01 น. อ่าน : 1,443 มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์
(ม.อ.) โดย พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา
สยามบรมราชกุมารี เปิดตัว “นิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย”
เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่นักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค้นพบ
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี และเป็นจุดเช็คอินใหม่ เอาใจสายถ่ายภาพ
และผู้ที่ชื่นชอบงานจิตรกรรมภาพวาดศิลปะควบคู่กับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในคาบสมุทรไทย
โดยมี รศ.ดร.จุฑามาส ศตสุข รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานเปิดงาน ผศ.ดร.วศิน
สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวเชิญชวนเยี่ยมชมจุดเช็คอินใหม่
โดยจัดในรูปแบบออนไลน์ ถ่ายทอดสดผ่านทาง facebook fanpage / YouTube :
PSUconnext เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564
รศ.ดร.จุฑามาส ศตสุข กล่าวว่า
งานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง นิทรรศการ “ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย” ณ
บริเวณด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ มีต้นแบบมาจากสัตว์เด่น และน่าสนใจ
จากการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ของพิพิธภัณฑ์ฯ และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
บางชนิดเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบโดยบุคลากรของพิพิธภัณฑ์ฯ
และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บางชนิดพบเฉพาะถิ่นในภาคใต้ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
สัตว์หายาก หรือมีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ นก ค้างคาว หนู สัตว์เลื้อยคลาน
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แมลง ปู และแพลงก์ตอน เป็นต้น
ซึ่งการถ่ายทอดภาพวาดจะอ้างอิงสีสันและลวดลายของสัตว์ธรรมชาติ
แต่อาจมีการดัดแปลงท่าทางของสัตว์จากภาพต้นแบบบ้าง
เพื่อให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมกับภาพมากขึ้น
เรื่องราวของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยใช้เวลาศึกษาในธรรมชาติเป็นปีๆ
และนำมาสรุป ร้อยเรียงไว้ในเส้นทางเป็นเรื่องราวของนิทรรศการ
ซึ่งมีตัวอย่างจริงจัดแสดงและเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิง เพื่อให้น้องๆ
และผู้ที่สนใจได้มาเรียนรู้ทำความรู้จักได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ
ผศ.ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ กล่าวว่า ขอเชิญชวนบุคลากรและบุคคลทั่วไป
มาเยี่ยมชมจุดเช็คอินใหม่ ณ บริเวณด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ เอาใจสายถ่ายภาพ
และผู้ที่ชื่นชอบงานจิตรกรรมภาพวาดศิลปะควบคู่กับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในคาบสมุทรไทย
อาทิ สัตว์มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ ค้างคาว นกเงือก นกชนหิน หนูพุก ตุ๊กกาย โลมา
และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ มดไม้ยักษ์ ผีเสื้อ ปู แพลงก์ตอนสัตว์ และอื่นๆ
ภายใต้แนวคิดความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ซึ่งสามารถถ่ายภาพมุมสวยๆ
กับสิ่งมีชีวิตเสมือนจริงสามมิติบนผนังอาคารได้ ทั้งนี้
ขอให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมภาพวาด ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
ภายในงานมีการบรรยายนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย ทั้งกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยนักวิจัยของพิพิธภัณฑ์ฯ ประกอบด้วย ดร.พรรณี สะอาดฤทธิ์, นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ, ดร.อับดุลเลาะ ซาเมาะ, นางณัฐรดา มิตรปวงชน, ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข และ นางสาวอวัศยา พิมสาย พร้อมกิจกรรมตอบคำถามลุ้นของรางวัลต่างๆ อีกด้วย
รับชมการถ่ายทอดสดย้อนหลังได้ที่: https://fb.watch/7pMmpMxdkX/.