สงขลาพร้อมรับมือช่วยเหลืออุบัติภัยจากพายุ “โนรู”
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 28 ก.ย. 2565, 15:00 น. อ่าน : 586สงขลา-รมว.มหาดไทย ประชุมติดตามสถานการณ์พายุ “โนรู”(NORU) เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และผลกระทบ ผ่านระบบทางไกล (Video Conference) ด้านจังหวัดสงขลาเตรียมแผนรับมือตั้งศูนย์บัญชาการฯไว้พร้อม
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 ก.ย.65 ที่ห้องประชุม Conference ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเชาวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา นายพนมเทียน เส้งวั่น ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา ร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์และผลกระทบจากพายุ โนรู (NORU) โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมฯ ที่จังหวัดพิษณุโลก
ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์พายุ โนรู (NORU) ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยวันที่ 28 - 29 ก.ย. 65 และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น อาจทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ด้านพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่ากระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมเน้นย้ำแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ตั้งศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ดำเนินการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
การประเมินจากสภาพสถานการณ์จริงที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งการเตรียมพร้อมของเครื่องมือต่างๆ โดยให้ทุกภาคส่วนร่วมมือพร้อมรับสถานการณ์สู่การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายแก่พี่น้องประชาชน นอกจากนี้จัดให้มีการเตรียมศูนย์พักพิงในการรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การอำนวยความสะดวกเรื่องการสัญจร การไฟฟ้า อีกทั้งหากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งโรงครัวพระราชทานได้ทันที รวมทั้งแจกถุงยังชีพ การดูแลรักษาพยาบาล เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้มีน้ำดื่ม มีอาหาร และมีที่อยู่อาศัย
ส่วนจังหวัดสงขลา ได้มีการเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2565 โดยได้จัดประชุมเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2565 การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ด้านอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม เพื่อติดตามสถานการณ์สภาพอากาศปริมาณน้ำฝน น้ำในอ่างลำคลองและพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม จัดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุในพื้นที่ภัยพิบัติซ้ำซาก (TEWT แบบไมใช้กำลัง) การจัดโครงการฝึกศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด กรณีอุทกภัย และการประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองจังหวัดสงขลา ปี 2565.