สงขลาเปิดบ้านเล่าเรื่อง “มโนราห์”มรดกโลกภูมิปัญญาวัฒนธรรม
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 26 ม.ค. 2566, 10:00 น. อ่าน : 497สงขลา-เริ่มแล้ว กิจกรรม “เปิดบ้าน เปิดเมือง เล่าเรื่องมโนราห์” ภายใต้แนวคิด ขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมมโนราห์เพื่อหนุนเสริมระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 24-31 มกราคม 2566 ที่บ้านสามห้อง ถนนนครนอก
นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “เปิดบ้าน เปิดเมือง เล่าเรื่องมโนราห์” เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 66 เวลา 19.00 น. ที่บ้านสามห้อง ถนนนครนอก จังหวัดสงขลา ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมมโนราห์เพื่อหนุนเสริมระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์จังหวัดสงขลา” โดยมี
ผศ.กฤษณพงศ์ สังขวาสี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นายวันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลา พร้อมด้วยประธานกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศิลปินมโนราห์ ครูฝึก และนักแสดง ตลอดจนผู้บริหาร นักวิจัย นักวิชาการและนักศึกษาเข้าร่วม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกับ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา จัดกิจกรรม “เปิดบ้าน เปิดเมือง เล่าเรื่องมโนราห์” เพื่อสร้างกลไกประสานความร่วมมือและบูรณาการทำงานของประชาคมทางวัฒนธรรมด้านมโนราห์ สำหรับการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งของมรดกภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรม และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันทางสังคมระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ และเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่นของผู้ประกอบการเชิงวัฒนธรรมมโนราห์ สู่การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นผ่านการผลิตสินค้า พื้นที่วัฒนธรรม และบริการเชิงวัฒนธรรมด้วยคุณค่าของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่
นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจัดกิจกรรม “เปิดบ้าน เปิดเมือง เล่าเรื่องมโนราห์” นับเป็นความร่วมมือที่ดีของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง“มโนราห์” ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยยูเนสโก (UNESCO) ลำดับที่ 3 ต่อจากนวดไทยและโขน ดังนั้นการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อย่างมโนราห์จึงควรให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญด้านมโนราห์ ทั้งศิลปินมโนราห์ ผู้ฝึกสอนมโนราห์ และกลุ่มผู้ประกอบการเกี่ยวกับมโนราห์อันเป็นบุคคลสำคัญในการสืบทอดภูมิปัญญามโนราห์ให้แก่คนรุ่นหลังต่อไปอย่างถูกต้อง
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการภาพวาดเล่าเรื่องมโนราห์,
นิทรรศการผลิตภัณฑ์มโนราห์จากผลงานวิจัย, การอบรมการร้อยลูกปัดมโนราห์ โดยหัตถกรรมลูกปัดมโนราห์บ้านขาว, การประกวด“ระบายสีสืบสานถิ่นมโนราห์”, การเสวนา “เปิดบ้าน เปิดเมือง เล่าเรื่องมโนราห์”, การประกวดแข่งขัน “โนราเด็ก” และการแข่งขัน “ประชันโนรา” ทั้งสิ้น 7 วัน 7 คืน จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและสังคม โดยเฉพาะการช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นสังคมฐานความรู้ด้านการวิจัยและเป็นประเทศที่เติบโตบนฐานนวัตกรรมที่พึ่งพาตนเอง.