สรุปผลประชุม รมต.เอเปค เดินหน้าขับเคลื่อน SME ในภูมิภาคและเขตเศรษฐกิจ
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ภูเก็ต,
โฟสเมื่อ : 11 ก.ย. 2565, 20:00 น. อ่าน : 647ภูเก็ต-ที่ประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28 ที่ภูเก็ต UAPEC ร่วมขับเคลื่อน MSME และสตาร์ทอัพของภูมิภาค การพัฒนา MSME ของเขตเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงอุปทานโลก สร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายของการประชุมเอเปค 2022
สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28 ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเดินหน้าขับเคลื่อน MSME และสตาร์ทอัพ ด้วย 4 ประเด็นสำคัญ ตั้งแต่การประยุกต์ใช้ BCG การปรับตัวสู่ดิจิทัล การแก้ปัญหาเงินทุน และการรับมือตลาดที่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ไทยพร้อมสานต่อการพัฒนา MSME เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก ภายใต้การเติบโตที่ยั่งยืน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในการประชุมรัฐมนตรีเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 28 เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (APEC SME Ministerial Meeting) ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดในระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรี จาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค เข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมหารือแถลงการณ์ที่สะท้อนถึงการประชุมที่เกิดขึ้น ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัพ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ภายในภูมิภาคเอเปค พร้อมทั้งแนวทางในการดำเนินการต่าง ๆ ร่วมกัน ระหว่างรัฐมนตรี ที่สอดคล้องกับหัวข้อการประชุมระดับรัฐมนตรีของ SME เรื่อง “การฟื้นตัวโดยรวมของ MSME ในเอเปค ผ่าน Bio – Circular – Green Economy (BCG) และระบบนิเวศที่มีผลกระทบสูง”
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพในการจัดการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการสรุปการประชุมรัฐมนตรีภายใต้เขตเศรษฐกิจเอเปคว่า ในการประชุม ได้มีการหารือว่าเขาจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกคน รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ พวกเขาจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งฟื้นฟูและปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค ผ่านความยืดหยุ่นทางดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ MSME เกิดการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้ร่วมกันหารือและสนับสนุนในประเด็นดังต่อไปนี้:
(1) เร่งรัดการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Economy Model) ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของธุรกิจขนาดเล็ก และยังสนับสนุนความพยายามของโลกที่จะรับมือกับภาวะโลกร้อน
(2) การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถพัฒนาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย ที่มีทักษะในด้านดิจิทัลจะเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าและยืนหยัดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
(3) การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย มีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ “เนื่องจากมีขนาดเล็ก มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ไม่หลากหลาย และอาจมีโครงสร้างทางการเงินที่อ่อนแอกว่า” เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งจะช่วยให้ใช้ศักยภาพที่มี รัฐมนตรีและตัวแทนระดับสูงในการประชุมสนับสนุนให้มีมาตรการซึ่งจะแก้ปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดของการปล่อยกู้
(4) การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป การสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่สนับสนุนสตาร์ทอัพ ส่งเสริมนวัตกรรม เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก และสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรี ผู้ประกอบการที่เป็นเยาวชน และกลุ่มอื่น ๆ จะช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อยเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี สสว. จะดำเนินการรวบรวมแนวคิดที่ถูกหยิบยกขึ้นมาระหว่างการประชุมในครั้งนี้ และมุ่งพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับการระบุแนวปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ MSME ผ่านการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีต่อไป เพื่อเป้าหมายของการพัฒนา MSME ของเขตเศรษฐกิจไทยให้มีศักยภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงอุปทานโลก สร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายของการประชุมเอเปค 2022 คือ“Open Connect Balance” หรือการให้เอเปค "เปิด" ต่อทุกโอกาส "เชื่อมต่อ" ในทุกมิติและ "สมดุล" ในทุกด้าน.