สัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผนึกกำลัง ซีพี-เมจิ ร่วมพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม

หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ทั่วไป, การศึกษา, กรุงเทพฯ,

อ่าน : 1,348
ซีพี-เมจิ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม เชื่อมโยงสุขภาพผู้บริโภค
สัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผนึกกำลัง ซีพี-เมจิ ร่วมพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม

        ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นางสาวสลิลรัตน์  พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาผู้เลี้ยงโคนมไทย “โครงการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม เชื่อมโยงสุขภาพผู้บริโภค” พัฒนากระบวนการผลิตน้ำนมคุณภาพดี ปลอดยาปฏิชีวนะตลอดห่วงโซ่การผลิต พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร  มุ่งเป้าผลิตอาหารนมที่มีคุณภาพส่งต่อผู้บริโภค

        รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์  อัจฉริยะขจร หัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดพันธกิจสร้างแพลตฟอร์มสนับสนุนงานวิจัย การเรียนการสอน และบริการวิชาการด้านโคนมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีความพร้อมด้านห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมและอาหารสัตว์ เชื่อมโยงเครือข่ายวิชาการร่วมกับเกษตรกร สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และบริษัทเอกชน ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง สอดคล้องกับเป้าหมายของ ซีพี-เมจิ ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพที่ดี ทั้งสององค์กรจึงทำการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านโคนม

        “ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนา นำองค์ความรู้ด้านวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมลงสู่ฟาร์มเกษตรกรในรูปแบบ Dairy Veterinary Community Approach เพื่อสร้างต้นแบบจัดการฟาร์มโคนมแบบแม่นยำสูง เพื่อลดต้นทุนและความสูญเสีย ตลอดจนเน้นความปลอดภัยของอาหาร ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อวงการโคนมอย่างเป็นรูปธรรมบนพื้นฐานข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมที่ยั่งยืนของประเทศไทยและในภูมิภาค” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว

        ด้าน นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้นำ นมพาสเจอไรซ์และโยเกิร์ตเพื่อสุขภาพ บริษัทฯ มีปณิธานในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภค ตลอดการดำเนินธุรกิจมากว่า 30 ปี นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังเป็นผู้รับซื้อน้ำนมดิบรายใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงตระหนักดีถึงความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมนมและเกษตรกรทุกคน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการสรรสร้างผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของซีพี-เมจิ โดยบริษัทฯ ได้ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงโคนม แบ่งเบาภาระเกษตรกร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยการพัฒนาการจัดการด้านการเลี้ยง ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยวางเป้าหมายในการพัฒนาศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและเกษตรกรโคนมในเครือข่ายจำนวน 50 ฟาร์ม ภายในปี 2564

        “ซีพี-เมจิ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายเดียวกันในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมนมไทยและความปลอดภัยของผู้บริโภคทั้งห่วงโซ่ จึงเกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น และยังร่วมกันตั้งเป้าหมายในการขยายโครงการฯ ไปอีก 150 ฟาร์ม ภายในปี 2566 คาดว่าจะมีประชากรแม่โครีดนมมากกว่า 3,000 ตัว  มุ่งเป้าสู่ “การเป็นฟาร์มวัวสุขภาพดี น้ำนมโคยอดเยี่ยม” ด้วยการจัดการข้อมูลการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ  นำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างสมดุลย์ของอาหาร การดูแลสุขภาพอย่างตรงจุดสามารถวัดผลได้ และปลอดยาปฏิชีวนะ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้และมาตรฐานของโครงการฯ สู่เครือข่ายเกษตรกรโคนม เป็นการยกระดับคู่ค้าผู้เลี้ยงโคนมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนร่วมกันสร้างผลผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพ ส่งต่อนมโค ที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค สอดคล้องกับนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการดำเนินธุรกิจ ตามปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน คือ สร้างประโยชน์แก่ประเทศ ประชาชน และองค์กร” นางสาวสลิลรัตน์ กล่าว.


ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์  อัจฉริยะขจร หัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาวสลิลรัตน์  พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด