สัมปทานรังนกฯพัทลุงยังวุ่น ฟ้องเรียก 500 ล้าน เก็บไม่ได้ตามเป้า
หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 12 เม.ย. 2566, 09:07 น. อ่าน : 510พัทลุง-สัมปทานรังนกอีแอ่นพัทลุงวุ่นไม่จบ บริษัทสยามเนสท์ฯที่ได้รับการประมูล ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกฯ 500 ล้านบาท ผวจ.พัทลุง ในฐานะประธานคณะกรรมการรังนกฯ ประชุมลับหาขีอเท็จจริงในความเสียหาย และไม่สามารถยุติการฟ้องร้องได้
จากกรณีที่บริษัทสยามเนสท์ 2022 จำกัด ชนะการประมูลสัมปทานรังนกอีแอ่นในพื้นที่ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เป็นเงิน จำนวน 400 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2564 – 8 กันยายน2569 แต่ในช่วงว่างเว้นจากการสัมปทานรังนกนั้นได้มีกลุ่มคนร้ายเข้าไปขโมยรังนก ทำลายทรัพยากรรังนก จนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ตัวแทนบริษัทสยามเนสท์ฯที่ชนะการประมูลพร้อมคณะกรรมการรังนกฯ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และกลุ่มสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่เกาะรังนกเพื่อรับมอบเกาะ ปรากฏว่าในถ้ำรังนกขนาดใหญ่ จำนวน 7 ถ้ำ กลุ่มคนร้ายได้ขโมยไปจนเกลี้ยงถ้ำ และมีการจับกุมข้าราชการและเอกชนที่ร่วมขโมยหล่ยราย ส่วนการเก็บรังนกของบริษัทฯนั้นได้มีปริมาณลดน้อยลงมาก จนทางบริษัทสยามเนสท์ฯได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคณะกรรมการรังนกจังหวัดพัทลุง เป็นเงิน 500 ล้านบาท
ความคืบหน้าเกี่นวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเย็นวันที่ 11 เมษายน 2566 นางนิศากร วิศิษฐ์สรอรรถผวจ.พัทลุง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ได้เป็นประธานในการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนของบริษัทสยามเนสท์ฯ กับคณะกรรมการรังนกฯ และผู้เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมสภาอบจ.พัทลุง เพื่อหาข้อเท็จจริงในเรื่องความเสียหายของรังนก โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าถ่ายภาพในการประชุมแต่อย่างใด และมีการห้ามมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ารับฟังการประชุมโดยเด็ดขาดเพราะถือเป็นความลับของทางราชการ แต่การพูดคุยกันในครั้งนี้ก็ไม่สามารถยุติเรื่องการฟ้องร้องได้ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมทางด้านผวจ.พัทลุง ได้ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดกับกลุ่มสื่อมวลชน
ทางด้านนายพิพัฒน์ ทนายความของบริษัทสยามเนสท์ฯ เปิดเผยว่า การเรียกเงินค่าเสียหายจากคณะกรรมการรังนกฯ จำนวน 500 ล้านบาทนั้น ทางคณะกรรมการรังนกฯก็จะมีปัญหาในการจ่ายค่าเสียหายให้กับทางบริษัทฯอย่างแน่นอน เนื่องจากในขณะนี้เงินอากรรังนกก็ได้จัดสรรไปให้ท้องถิ่นแล้ว ทางบริษัทฯจึงได้ยื่นข้อเสนอให้มีการขยายระยะเวลาการสัมปทานจาก 5 ปี ไปเป็น 15 ปี โดยจะเพิ่มค่าอากรเพิ่มให้เป็น 500 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 900 ล้านบาท อันจะส่งผลให้จังหวัดพัทลุงจะได้รับเงินอากรรังนกงวดละ 60 ล้านบาท ในส่วนของบริษัทฯก็จะได้มีการเพิ่มจำนวนพันธ์ุนกอีแอ่นและอนุรักษ์นกอีแอ่นให้มากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันจะก่อให้เกิดผลดีกันทั้ง 2 ฝ่ายและเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดอีกด้วย
“ก็ต้องยอมรับว่าจำนวนรังนกที่เก็บได้ในการสัมปทานรังนกฯของบริษัทนั้น ปริมาณรังนกได้หายไปมากกว่า300 เปอร์เซ็น ซึ่งเป็นประจักษ์ด้วยพยานหลักฐานอยู่แล้ว เพราะการเก็บรังนกในแต่ละครั้งมีฝ่ายเกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบด้วย ซึ่งกว่าจะให้สถานการณ์รังนกเข้าสู่สภาพปกติจะต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 5 ปี” นายพิพัฒน์กล่าว.