อบจ.สงขลา ต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพผลิตมะพร้าวน้ำหอม

หมวดหมู่ : สงขลา,

อ่าน : 427
ส่งเสริมพัฒนาต่อยอดมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวน้ำหอม ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอม
อบจ.สงขลา ต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพผลิตมะพร้าวน้ำหอม

สงขลา-อบจ.สงขลา ส่งเสริมพัฒนาต่อยอดมะพร้าวน้ำหอมเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มคุณภาพ การแปรรูป การเชื่อมโยงการตลาด การเชื่อมโยงการท้องเที่ยว


เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 67 เวลา 11.00 น.  นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาต่อยอดมะพร้าวน้ำหอมแปลงใหญ่ รุ่นที่ 1  การเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตมะพร้าวน้ำหอม ภายใต้โครงการพัฒนาพืชเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ 2567  โดยมี นางสาวปรินดา ปาลาเร่ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการ ที่สวนผู้ใหญ่เอ็ม ตำบลชุมพลอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา


สำหรับ อบจ.สงขลา ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาต่อยอดมะพร้าวน้ำหอมแปลงใหญ่ รุ่นที่ 1  การเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตมะพร้าวน้ำหอม ภายใต้โครงการพัฒนาพืชเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อยกระดับเศรษฐกิจการผลิตมะพร้าวน้ำหอมจังหวัดสงขลา ผ่านการวิจัยพัฒนา ส่งเสริม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวน้ำหอม ทั้งในด้านการเพิ่มปริมาณ การพัฒนาคุณภาพผลผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยในด้านการเพิ่มปริมาณ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตมะพร้าวน้ำหอม ส่งเสริมการแปรรูป และส่งเสริมการตลาด


นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า  สงขลามีพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นอันดับ 5 มีจำนวนครัวเรือนที่ปลูก 4,345 ครัวเรือน มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากราชบุรี ที่มี 5,511 ครัวเรือน ตลาดมะพร้าวน้ำหอมของจังหวัดสงขลา กระจายไปหลายแหล่งด้วยกันทั้งการบริโภคในจังหวัด การส่งไปยังจังหวัดและเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย และอำเภอหาดใหญ่ สะเดา ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ต่างชาติเดินทางมามากและนิยมรับประทานมะพร้าวน้ำหอม โดยประมาณการมูลค่ามะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่จังหวัดสงขลา ไม่น้อยกว่า300 ล้านบาท


ด้านนายอภิชาติ ยุพยงค์ เจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอมผู้ใหญ่เอ็ม รายงานว่า สถานการณ์การผลิตมะพร้าวน้ำหอมของเกษตรกร/แปลงใหญ่ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ในสวนที่มีการดูแลรักษาดี มะพร้าวน้ำหอม เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวได้ถึง 15 - 17 ปี มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่/ปี ในรอบ 1 ปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 18 ครั้ง (เฉลี่ยเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก 20 วัน) ผลผลิตเฉลี่ย 6 ตัน/ไร่/ปี หรือ3,750 ผล/ไร่ น้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม/ผล ผลตอบแทนเฉลี่ย 36,000บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย16,000 บาท/ไร่/ปี เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตมะพร้าวน้ำหอมราชบุรีมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 7,992 ผล/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ธันวาคม 2566 เฉลี่ย 9.67 บาท/ผล รายได้ 77,282 บาท/ไร่/ปี จะพบว่าเกษตรกรสงขลายังมีประสิทธิภาพการผลิตได้ต่ำกว่ามาก


นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวต่อไปว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เล็งเห็นว่า ขณะที่ตลาดกำลังเติบโต สงขลาจึงมีศักยภาพที่จะทำการพัฒนา จึงได้ให้กองส่งเสริมการเกษตรองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลาและสำนักงานเกษตรอำเภอสทิงพระ ระโนด สิงหนคร กระแสสินธุ์ วิทยาลัยการอาชีพสิงหนคร สำนักงานสหการณ์จังหวัดสงขลา ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ และ เกษตรกรผู้ปลูกน้ำหอมจัดทำโครงการส่งเสริมมะพร้าวน้ำหอมขึ้นมา เพื่อการบูรณาการในการทำงานทุกภาคส่วนให้เกิดการพัฒนาการผลิตมะพร้าวน้ำหอม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและ ปลายน้ำ 


ส่วนในโครงการจะมีการอบรมให้ความรู้เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมทั้งจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่และมีอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ คือเป็นการปลูกมะพร้าวน้ำหอมในดินยุคโฮโลซีนที่เกิดจากทะเลยกตัวขึ้นมาเมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว พื้นที่ติดทะเลทั้ง 2 ด้าน เกษตรกรจะขุดปรับพื้นที่นามาเป็นร่องสวนปลูกมะพร้าวน้ำหอม และในดินจะมีซากหอยปะปนอยู่ โดย มีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน จะมีการบรรยายเรื่องอุตสาหกรรมและตลาดมะพร้าวน้ำหอม โดย นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ประธานบริษัทเอ็นซี่ โค่โค่นัท จำกัด (NC Coconut) 


การเสวนาการพัฒนาเครือข่ายมะพร้าวน้ำหอม โดยเชื่อมโยงระบบการตลาดและการซื้อขาย โดยนายสิริวัฒน์โหรารัตน์ ผู้ประกอบการตลาดมะพร้าวน้ำหอม อำเภอสทิงพระ การจัดการสวนมะพร้าวน้ำหอม โดยนายอภิชาติ ยุพยงค์ เจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอมผู้ใหญ่เอ็ม ผลงานวิจัยมะพร้าวน้ำหอม โดยนางสาวสุวิมล วงศ์พลัง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา การส่งเสริมแปลงใหญ่ โดยนายนราศักดิ์ ชุมแก้วเกษตรอำเภอสทิงพระ การส่งเสริมมะพร้าวน้ำหอมด้วยระบบสหกรณ์ โดยนายฉ่าฝีอี ล่าเต๊ะ ตำแหน่ง นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ (ผอ.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์) สนง.สหกรณ์จังหวัดสงขลา


การส่งเสริมและการจัดตั้งกลุ่มอาชีพมะพร้าวน้ำหอม อบจ.สงขลา โดย นายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเกษตร อบจ.สงขลา และดูงานเรื่อง การจัดการสวนพร้าวน้ำหอมผู้ใหญ่เอ็ม ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ และดูงานเรื่อง ระบบตลาดมะพร้าวน้ำหอม ตำบลบ่อดาน อำเภอสทิงพระ ของนายสิริวัฒน์ โหรารัตน์  หลังจากนั้นจะมีการอบรมต่อเนื่องในด้านวิชาการ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มคุณภาพ การแปรรูป การเชื่อมโยงการตลาด การเชื่อมโยงการท่องเที่ยว 


ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ มะพร้าวน้ำหอมผลผลิต คุณภาพ มูลค่า ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมจังหวัดสงขลา เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20%  มะพร้าวน้ำหอมจังหวัดสงขลาเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ เป็นที่รู้จักในตลาดท่องเที่ยวและตลาดที่สำคัญ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 20% มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ เป็นที่รู้จักในตลาดท่องเที่ยวและตลาดที่สำคัญ จะส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจมะพร้าวน้ำหอมจังหวัดสงขลาที่จะมีมูลค่าเศรษฐกิจภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านบาท และเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมมีความเป็นอยู่ที่ดี ด้านสังคม ชุมชนเกษตรมีความเข้มแข็งขึ้นจากการรวมกลุ่มปลูกมะพร้าวน้ำหอม ด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยลดการใช้สารพิษทางการเกษตรจากการปลูกมะพร้าวน้ำหอมตามหลักวิชาการ และจะนำไปสู่หมุดหมาย“สงขลามหานครมะพร้าวน้ำหอมของภาคใต้”


ผู้สนใจสามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กองส่งเสริมการเกษตร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา.




อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :