อบจ.สงขลา เปิด “ตลาดเกษตร อบจ.” ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, สงขลา,
โฟสเมื่อ : 13 พ.ค. 2567, 13:00 น. อ่าน : 304สงขลา-อบจ.สงขลา เปิดโครงการ “ตลาดเกษตร อบจ.สงขลา” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 กิจกรรมที่ 2 เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต รวมทั้ง “ตลาดนัดท้องถิ่นสีเขียว”(Green Local Market) ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.67 เวลา 09.30 น นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการตลาดเกษตร อบจ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 กิจกรรมที่ 2 ตลาดนัดท้องถิ่นสีเขียว (Green Local Market) ที่บริเวณสระน้ำป่าแก องค์การบริหารส่วนตำบลคลองหรัง หมู่ 2 ตำบลคลองหรัง อำเภอนาหม่อมจังหวัดสงขลา เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
การผลิต การจำหน่าย และการตลาด (1 อำเภอ 1 ตลาดเกษตร) : อำเภอนาหม่อม โดยมีนายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอาคม ประสมพงศ์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เขตอำเภอนาหม่อม นายบำรุง พรหมเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองหรัง ร้อยเอกสุวิทย์ แก้วพรหม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งขมิ้น เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการฯ
นายจรินศักดิ์ สงสุวรรณ นายอำเภอนาหม่อม กล่าวต้อนรับ นายประพันธ์ แซ่เตี้ยว สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดสงขลา เขตอำเภอนาหม่อม กล่าวขอบคุณ และหน่วยงานส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องชาวอำเภอนาหม่อม เข้าร่วมภาคการเกษตร มีความสำคัญต่อจังหวัดสงขลาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอำเภอนาหม่อมมีพืชผลทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อมากมาย
สำหรับโครงการตลาดเกษตร ทาง อบจ. อบจ.สงขลา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรม จึงได้จัดขึ้นในปีงบประมาณ 2567 โดยมีเป้าหมาย 1 อำเภอ 1 ตลาดเกษตร ครอบคลุมใน 16 อำเภอ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรของจังหวัดสงขลาให้เติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดท้องถิ่นสีเขียว (Green Local Market)” เพื่อส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตร ผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลาได้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า และผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าคุณภาพดีจากผู้ผลิตโดยตรง เป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจระดับชุมชน/ครัวเรือนอย่างยั่งยืน อันเป็นการกระจายรายได้สู่คน ชุมชน ทำให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้
นอกจากนี้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างรายได้ ด้านการนำทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีมูลค่าสูง เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่น.