“เกษตรอำเภอเบตง” เก็บข้อมูล”ผักน้ำ”ยกระดับคุณภาพสู่อุตสาหกรรม

หมวดหมู่ : ยะลา,

อ่าน : 466
“เกษตรอำเภอเบตง” เก็บข้อมูล”ผักน้ำ”ยกระดับคุณภาพสู่อุตสาหกรรม

ยะลา-เกษตรอำเภอเบตง ร่วมกับคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เก็บข้อมูลภายใต้โครงการนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตพืชอัตลักษณ์สู่อุตสาหกรรมการผลิตอย่างยังยืน


ผู้สื่อข่าวรานวานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.66 นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง ร่วมลงพื้นที่กับคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เก็บข้อมูลภายใต้โครงการนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตพืชอัตลักษณ์ (ผักน้ำ) สู่อุตสาหกรรมการผลิตอย่างยังยืน ในพื้นที่แปลงผักน้ำของเกษตรกรหมู่บ้านปิยมิตร1 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา


นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง  กล่าวว่า สำหรับ ผักน้ำเบตง ถือเป็นผักมหัศจรรย์ใต้สุดแห่งแดนสยาม ผักพื้นถิ่นเมืองเบตงที่ปลูกมาช้านาน โดยชุมชนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวหมู่บ้านจุฬาภรณ์10 จ.ยะลา มีลักษณ์คล้ายกับผักบุ้ง มีใบเล็ก แต่ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ นอกจากจะนิยมนำทำเมนูแกงจืด ผัด หรือต้มใส่กะทิกินกับน้ำพริกแล้ว ผักน้ำเบตง ยังมีสรรพคุณช่วยคลายร้อน แก้ร้อนใน และลดความดันโลหิตสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความชรา บำรุงสายตา และเสริมสร้างความคุ้มกันของร่างกาย 


ทาง สถาบันวิจัยวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ลงมาเก็บข้อมูลเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตพืชอัตลักษณ์ (ผักน้ำ) สู่อุตสาหกรรมการผลิตอย่างยั่งยืน  โดยเริ่มจาก การสร้างอัตลักษณ์หรือนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดให้กับสินค้า สร้างความแตกต่างและความโดดเด่นของสินค้าในแต่ละท้องถิ่น  ตลอดจนใช้ประโยชน์จากเอกลักษณ์แต่ละพื้นที่ในการเชื่อมโยงไปสู่ภาคการผลิตอื่น เช่น การท่องเที่ยวและบริการ และส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นในระดับประเทศ และเพื่อการส่งออกไปยังตลาดโลก


เกษตรอำเภอเบตง  กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเบตง ได้เร่งอบรมเกษตรกรเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกพืชอัตลักษณ์ในพื้นที่ อ.เบตง   เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา นวัตกรรมและเทคโนโลยีการพัฒนากระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้มีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นออกสู่ตลาดสม่ำเสมอ รวมถึงสินค้าเกษตรนอกฤดูกาล ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และยกระดับความสามารถของเกษตรกรและชุมชนในการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน.