เจาะถนนระบายน้ำล้นตลิ่ง ป้องกันน้ำท่วมตลาดมูโนะ

หมวดหมู่ : นราธิวาส, ทั่วไป,

อ่าน : 465
ชลประทานเจาะถนนเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำโก-ลก
เจาะถนนระบายน้ำล้นตลิ่ง ป้องกันน้ำท่วมตลาดมูโนะ

นราธิวาส-ชลประทานเจาะถนนเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำโก-ลก ที่ใกล้ล้นตลิ่งป้องกันน้ำท่วมตลาดมูโนะ และน้ำท่วมดื้นที่ 3 อำเภอ


     ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเช้าวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ว่า สภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. ถึง 2 ธ.ค.66 จากพื้นที่ จ.นราธิวาส ล่าสุดท้องฟ้ายังคงมีเมฆฝนมืดครึ้มแพร่ปกคลุมทั้ง 13 อำเภอ และมีฝนตกลงมาเป็นช่วงๆตลอดทั้งวัน ส่งผลทำให้แม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำโก-ลก มีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและบางจุดใกล้ล้นตลิ่ง โดยปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักอยู่ในพื้นที่ อ.สุไหงปาดีวัดได้ 242.2 ม.ม. รองลงมาในพื้นที่ อ.แว้ง วัดได้ 189.0 ม.ม. ส่งผลทำให้แม่น้ำโก-ลก มีปริมาณน้ำสะสมสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เหลือเพียง 0.18 เมตร จะล้นตลิ่ง ซึ่งเป็นผลพวงจากมวลน้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งมีต้นกำเนิดในพื้นที่อ.สุคิริน ไหลงมาสมทบในแม่น้ำโก-ลก และคาดว่าหากฝนยังตกหนักอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำในแม่น้ำโก-ลก จะล้นตลิ่งในช่วงเย็นของวันนี้


     ล่าสุดนายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผอ.สนง.ชลประทานที่ 17 ได้นำรถแบกโฮ จำนวน 1 คัน มาเจาะถนนที่บริเวณปากร่องน้ำของแม่น้ำโก-ลก ม.1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก ก่อนที่มวลน้ำจะไหลลงประตูระบายน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ประตูระบายมีจำนวนปริมาณน้ำมากกว่าที่กำหนด เนื่องจากบริเวณ 2 ฟากฝั่งซึ่งเป็นเขื่อนคันดินของประตูระบายมีระดับต่ำ ที่มวลน้ำมาหาศาลและมีความเชี่ยวกลากสามารถไหลกัดเซาะผ่านบิ๊กแบ็ค จนส่งผลทำให้มวลน้ำสามารถไหลบ่าเข้าท่วมตลาดมูโนะซ้ำเป็นปี่ที่ 3 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสภาวะเศรษฐกิจนับล้านบาทได้


     พร้อมกันนี้นายเฉลิมชัย ผอ.สนง.ชลประทานที่ 17 ได้แก้ไขด้วยการนำบิ๊กแบ็ค หรือ ถุงพลาสติกขนาดจัมโบ้สีขาวใส่ทรายมาวางเสริมแนวบนแนวคันดิน ซึ่งในปีที่ผ่านมาจุดดังกล่าวถูกน้ำกัดเซาะ จนมวลน้ำมาหาศาลที่เชี่ยวกลากไหลบ่าทะลักเข้าท่วมตลาดมูโนะ ซึ่งการแก้ปัญหาทั้ง 2 จุด คาดว่าสามารถป้องกันน้ำท่วมตลาดมูโนะได้เป็นอย่างดี


     ส่วนผลกระทบจากสภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปริมาณน้ำฝนที่ตกลงสะสมเป็นเวลา 2 วันติดต่อกัน ในพื้นที่ 6 อำเภอ คือ 1. อ.สุไหงโก-ลก มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนหัวสะพาน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก โดยมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 20 ถึง 40 ซ.ม. ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก มีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวนกว่า 30 ครัวเรือน ต้องใช้เรือพายเป็นพาหนะ หากต้องเดินทางไปทำกิจธุระ , บ้านเจาะแห ม.2 ต.ปูโยะ มีปริมาณน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 30 ซ.ม. 2. อำเภอตากใบ มีน้ำท่วมขังในพื้นที่บ้านปลักปลา ม.5 ต.โฆษิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มของ 2 ฟากฝั่งของถนนสายหลัก จำนวนกว่า 20 หลังคาเรือน โดยมีปริมาณน้ำท่วมขังและไหลเข้าบ้านพักสูงโยเฉลี่ย 30 ซ.ม. 


     3. อ.สุไหงปาดี มีน้ำท่วมขังถนนในหมู่บ้านตาเซะใต้ ม.6 ต.ปะลุรู โดยมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 30 ถึง50 ซ.ม. ชาวบ้านที่อาศัยอยู่จำนวน 35 หลังคาเรือน ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ชาวบ้านไม่สามารถสัญจรไปมาได้นอกจากนี้ยังมีสภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่มอีก 3 อำเภอ คือ อ.ระแงะ สุคิรินและจะแนะ ซึ่งส่วนใหญ่ปริมาณน้ำท่วมขังโดยภาพรวมจะลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง.












อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :