เปิดสถิติระบบป้องกันภัยไซเบอร์ เปิดตัว 7 วัน ปกป้องลูกค้าได้มากถึง 10.3 ล้านครั้ง
หมวดหมู่ : ไลฟ์สไตล์-บันเทิง, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 12 ธ.ค. 2567, 20:14 น. อ่าน : 153กรุงเทพฯ - เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ภายหลังจากที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น เดินหน้าภารกิจรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ลงทุนพัฒนาและนำ AI ขั้นสูงมาใช้เพื่อยกระดับการปกป้องและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้บริการโลกออนไลน์ เปิดระบบป้องกันภัยไซเบอร์อัจฉริยะ “True CyberSafe” ให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับ ลูกค้ามือถือทรูและดีแทค รวมทั้งลูกค้าเน็ตบ้านทรูออนไลน์ ทุกราย โดยจะบล็อกหรือแจ้งเตือน เมื่อมีการเข้าถึงเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตราย หากลูกค้ากดเข้าไป จาก SMS หรือบราวเซอร์ และเมื่อมีการเข้าถึงเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตราย บนเว็บบราวเซอร์ โดยเริ่มให้บริการไปตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคมนั้น
ล่าสุด ทีมงานทรู คอร์ปอเรชั่นได้เปิดเผยข้อมูลสถิติที่รวบรวมได้ระหว่างการเปิดระบบ True CyberSafe เพียง 7 วัน (ระหว่างวันที่ 3-9 ธันวาคม 2567) พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
• จำนวนครั้งที่ลูกค้าคลิกลิงก์แปลกปลอมทั้งหมด 10,773,877 ล้านครั้ง
• สามารถปกป้องลูกค้าจากการคลิกลิงก์แปลกปลอมได้ถึง 10.3 ล้านครั้ง
• คิดเป็น 96.28% ที่ระบบสามารถปกป้องได้
อย่างไรก็ตาม ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงเคารพสิทธิ์ลูกค้า หากลูกค้ายังยืนยันจะคลิกเข้าลิงก์ที่ได้รับการแจ้งเตือนต่อไป ก็สามารถทำได้ โดยพบว่า ช่วง 7 วันดังกล่าว จำนวนครั้งที่ลูกค้ายืนยันเข้าลิงก์แปลกปลอมอยู่ที่ 400,283 คลิก (จาก 10,773,877 ล้านคลิก )
โดย 4 ประเภทลิงก์แปลกปลอมที่พบจากระบบ True CyberSafe ในช่วงที่ผ่านมา มีดังนี้
อันดับ 1 : มัลแวร์ - เป็นไวรัสหรือซอฟแวร์เข้ามาฝังตัวในเครื่อง เพื่อเปิดช่องทางเข้ามาควบคุมเครื่องของเรา
อันดับ 2 : ฟิชชิง - เป็นการหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงิน เช่น รายละเอียดบัตรเครดิต หรือรหัสผ่าน
อันดับ 3: หลอกลงทุน - มีการแสดงผลกำไรที่สูงเกินควร เพื่อดึงดูดความสนใจ รวมไปถึงการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล เช่น คริปโต
อันดับ 4 : สแกม - การหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ทางออนไลน์ เช่น สแกมบัตรเครดิต, สแกมถูกรางวัล, สแกมค่าธรรมเนียมศุลกากร และโรแมนซ์สแกม
หมายเหตุ: พบว่า 1 ลิงก์ มีมากกว่า 1 ประเภทการหลอกลวง
ยิ่งไปกว่านั้นทรูยังเดินหน้าร่วมกับภาครัฐทุกภาคส่วน ในการตรวจสอบและเพิ่มลิงก์แปลกปลอมในฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อบล๊อคการเข้าถึงเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตรายได้ อีกทั้งยังสร้างความตระหนักรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพทางออนไลน์ เพื่อให้รู้ทันภัยไซเบอร์ ผ่านทาง ทรูปลูกปัญญา “รู้ทันโลกออนไลน์” https://www.trueplookpanya.com/rootanlokonline