AAV ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2566 กำไรจาก EBITDA เป็นบวก
หมวดหมู่ : ไลฟ์สไตล์-บันเทิง, ทั่วไป, ท่องเที่ยว, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 14 พ.ย. 2566, 17:00 น. อ่าน : 468AAV ประกาศผลประกอบการไตรมาส
3/2566 กำไรจาก EBITDA เป็นบวก
ขนส่งผู้โดยสารใกล้เคียงไตรมาส 2 พร้อมรุกหนักตลาดภายในประเทศส่งท้ายปี
สถิติที่สำคัญในไตรมาส 3/2566
- EBITDA* เป็นบวก
อยู่ที่ 389.1 ล้านบาท
พลิกจากขาดทุนในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ (601.3) ล้านบาท
- ตลาดภายในประเทศ
เติบโตเเข็งเเกร่ง ส่วนเเบ่งการตลาดสูงสุด ร้อยละ 38** โดยไตรมาสนี้
เเม้อยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ยังมีอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยสูงที่ร้อยละ 93
- ตลาดระหว่างประเทศ
มีสัดส่วนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 41
ของผู้โดยสารทั้งหมด อัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ย สูงร้อยละ 85
ตลาดจีนฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป
โดยบริษัทได้ปรับแผนเเละบริหารเที่ยวบินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทาง
- ไตรมาส 3/2566 ขนส่งผู้โดยสารรวม 4.6 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยร้อยละ 90 เครื่องบินปฏิบัติการบิน 46 ลำ จากฝูงบินทั้งหมด 54 ลำ โดยอัตราการใช้เครื่องบินสูง 12.8 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน
กรุงเทพฯ
- บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (“AAV”) ผู้ถือหุ้นของ
บจ.ไทยแอร์เอเชีย (“TAA”) เผยผลประกอบการประจำไตรมาส 3 ปี 2566
บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 9,898.7 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นร้อยละ 102 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
และสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากไม่รวมต้นทุนราคาน้ำมัน
ต้นทุนต่อหน่วย*** ของบริษัทยังคงลดลงร้อยละ 33
จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในไตรมาสมี มี EBITDA เป็นบวกอยู่ที่
389.1 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ (601.3)
ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ณ สิ้นไตรมาส
ทำให้บริษัทมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ (813.5) ล้านบาท
ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการขาดทุนทางบัญชีที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงและไม่ได้ส่งผลกับกระแสเงินสดของบริษัท
โดยบริษัทมีขาดทุนสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ (1,694.7) ล้านบาท
ดีขึ้นอย่างมากจากขาดทุน (4,050.2) ล้านบาท
ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายสันติสุข
คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย
กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 3/2566 แม้ว่าบริษัทจะขาดทุนสุทธิ แต่ผลประกอบการดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
แม้ได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อเนื่องจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นร้อยละ 61 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงขึ้นร้อยละ 19
จากไตรมาสก่อน
ส่วนหนึ่งมาจากค่าภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำหรับเที่ยวบินในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น
รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่า
ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยากและส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาสนี้โดยตรง
“เชื่อมั่นว่าไตรมาสสุดท้าย
บริษัทจะมีผลประกอบการที่ดี เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น
โดยรุกหนักตลาดภายในประเทศที่มีศักยภาพเเละเราเป็นผู้นำตลาด
ควบคู่การปรับกลยุทธ์ในตลาดระหว่างประเทศ
รวมทั้งการที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ชัดเจน อาทิ โครงการฟรีวีซ่า
กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน
ที่ทยอยผ่อนปรนมาตั้งเเต่ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
รวมถึงการปรับภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทยเสริมความเชื่อมั่น
นอกจากนี้น่าจะเห็นความชัดเจนในเรื่องอัตราภาษีสรรพสามิตที่เหมาะสมเร็วๆ นี้
ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยหนุนทางบวก” นายสันติสุข กล่าว
อย่างไรก็ตาม
สำหรับเป้าหมายตลอดปี 2566
บริษัทยังคงมั่นใจขนส่งผู้โดยสารที่ 20 ล้านคน (9 เดือนเเรก ขนส่งไปเเล้วกว่า 13.8 ล้านคน)
อัตราขนส่งผู้โดยสารที่ร้อยละ 87
อัตราความตรงต่อเวลาที่ร้อยละ 90
โดยนำเครื่องบินมาปฏิบัติการบิน 50 ลำ จากฝูงบิน 54 ลำที่มีอยู่ ณ สิ้นปี ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 4
ไทยแอร์เอเชียได้ปรับกลยุทธ์สำคัญ
โดยเพิ่มจำนวนเที่ยวบินตลาดภายในประเทศประมาณร้อยละ 20
จากไตรมาสก่อน เเละเพิ่มบินเส้นทางระหว่างประเทศสู่ คยา กูวาฮาติ อัมห์ดาบาด
ประเทศอินเดีย และซัวเถา ประเทศจีน พร้อมคว้าโอกาสในการเติบโต
ทั้งนี้บริษัทฯ
ยังเดินหน้าพัฒนาความยั่งยืนตามเเผน โดยใน 9
เดือนเเรกปี 2566 บจ.ไทยแอร์เอเชีย
สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบินแบบ Green Operating ไปเเล้ว 4.37
กรัมคาร์บอนไดออกไซ์ต่อปริมาณการขนส่งผู้โดยสารรวมทั้งหมด
มากกว่าเป้าหมายตลอดปีที่ตั้งไว้ที่ 3.00 กรัม
นอกจากนี้ยังร่วมแคมเปญ “เที่ยวดี กรีนดี” กับบริษัท ปันโปรโมชั่น จำกัด
ในการพัฒนาทักษะการสร้างเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์บนแพลตฟอร์มออนไลน์
ต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
และการสร้างอาชีพให้กับชุมชนเกาะกลางจังหวัดกระบี่ หนึ่งในชุมชนผู้ร่วมโครงการ JourneyD
ต้นเเบบด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทยแอร์เอเชีย
* กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
** ข้อมูลของบริษัท ประกอบกับข้อมูลของ บมจ.ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย
*** ต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร
(ไม่รวมน้ำมันเชื้อเพลิง)