ชุดสอบสวนเผยคนเซ็นเช็คคดีทุจริตโกงเงินสหกรณ์ ตร.ไม่พ้นผิด
หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 19 พ.ค. 2565, 21:50 น. อ่าน : 900พัทลุง-ตำรวจชุดสอบสวนจอง สตช.มั่นใจ “ บิ๊กโจ๊ก “ ผช.ผบ.ตร. คงจะไม่ปล่อยคนเซ็นเช็คคดีทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง พ้นผิดทางอาญาและทางแพ่ง เพราะจะถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ ช่วยเหลือกัน และทำให้ตำรวจขาดความน่าเชื่อถือ
คดีการทุจริตโกงเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด วงเงินกว่า 1,450 ล้านบาท ซึ่งทำกันเป็นขบวนการและขณะนี้พนักงานสอบสวนของ ภ.จว.พัทลุง ตำรวจภาค 9 และ ตำรวจ สตช. ยังไม่ได้ร่วมกันพิจารณาออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา เนื่องจากยังต้องรอหลักฐานเช็คจากธนาคาร และผลการตรวจบัญชีของสำนักงานตรวจบัญชี ภาค 9 สงขลา ด้านรอง ผบก.ภ.จว.พัทลุง ยืนยันคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2563 นั้น น่าจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีแพ่งเกือบทุกราย เนื่องจากบริหารสหกรณ์ฯด้วยความบกพร่อง ผิดพลาด และเลินเล่อ จนทำให้สหกรณ์ฯได้รับความเสียหาย ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้ พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิระพันธ์ ผบก.อธ. หน.ชุดสอบสวนของ สตช. ที่ได้รับการมอบหมายจาก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. ให้มาช่วยคลี่คลายคดีดังกล่าว เปิดเผยว่า การพิจารณาการออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา น่าจะมีขึ้นหลังจากวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ซึ่งไม่มีเหตุผลใดที่กลุ่มผู้เซ็นเช็คจะหลุดพ้นในคดีดังกล่าวทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง หากไม่เอาผิดกลุ่มบุคคลดังกล่าวนี้พนักงานสอบสวนคงไม่กล้าส่งสำนวนฟ้องต่ออัยการ หากขืนส่งฟ้องไปก็จะถูกตีกลับมา ในส่วนของผู้ที่เซ็นเช็คบางรายออกมาระบุว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น ตนอยากถามว่าเป็นคำพูดที่น่าเชื่อถือหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่
พล.ต.ต.ไพโรจน์ ฯ กล่าวอีกว่า การเซ็นเช็คนั้นมีทั้งเช็คสั่งจ่ายเงินปันผล เฉลี่ยคืน สั่งจ่ายให้บัญชีผีที่ตบแต่งขึ้นมา และการเซ็นเช็คจ่ายเงินกู้แก่สมาชิก ก็ต้องถามว่าการเซ็นเช็คเงินสดให้สมาชิกในบัญชีผีคนเซ็นเช็คไม่รู้บ้างเลยหรือ ส่วนการเซ็นเช็คเงินกู้ให้แก่สมาชิกนั้นบางครั้งยอดเงินกู้เพียง 50 ล้านบาท แต่กลุ่มผู้เซ็นเช็คเซ็นเงินกู้ไป 70 – 80 ล้านบาท ตนเชื่อมั่นว่าหากยึดแนวการปฏิบัติตามระเบียบของสหกรณ์ฯการทุจริตเงินสหกรณ์ฯจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับการดำเนินการตามกฎหมายทั้งแพ่งและอาญากับกลุ่มผู้ต้องหานั้น ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ฯบ้าง แต่สิ่งดังกล่าวนี้จะอยู่เหนือความถูกต้องของกฎหมายบ้านเมืองไม่ได้
ดังนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องปฏิบัติหน้าที่แบบตรงไปตรงมา จะต้องทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย หากพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความหย่อนยานก็จะขาดความน่าเชื่อถือจากสังคม และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไร้ประสิทธิภาพ หากตำรวจช่วยเหลือกลุ่มผู้กระทำความผิดที่เป็นตำรวจด้วยกันทางพนักงานสอบสวนจะตอบคำถามชาวบ้านได้อย่างไร เนื่องจากคดีดังกล่าวนี้เป็นคดีที่สังคมตำรวจ สังคมทั่วๆไป และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศกำลังจับตามองเพราะเป็นคดีทุจริตที่ผิดแปลกแหวกแนว ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในสหกรณ์ออมทรัพย์พัทลุงฯเท่านั้น
”ผมก็มั่นใจว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. ไม่น่าจะไปปล่อยให้กลุ่มบุคคลที่เซ็นเช็คสหกรณ์ฯรอดพ้นจากความผิดทั้งคดีแพงและคดีอาญา เนื่องจากร่องรอยการกระทำความผิดเห็นชัดแจ้ง ผมไม่ได้จบการศึกษาทางการเงิน/บัญชี แต่ดูเอกสาร/หลักฐานของสหกรณ์ฯไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็พบว่ามีการทุจริตจริง ก็ต้องถามไปยังคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ฯว่า การทุจริตของสหกรณ์ฯที่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 – 2563 คณะกรรมการดังกล่าวดูไม่ออกจริงหรือไม่” พล.ต.ต. ไพโรจน์ กล่าว ซึ่งข่าวคืบหน้าจะเสนอต่อไป.