“ซีพี ออลล์” หนุนทีมวิศวกรรมอวกาศ “คีตะ” สู่พันธกิจพาภูมิปัญญาอาหารไทยไปอวกาศ กับ NASA

หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,

อ่าน : 572
ซีพี ออลล์ ทีมวิศวกรรมอวกาศคีตะ Deep Space Food Challenge NASA อาหารอวกาศ
“ซีพี ออลล์” หนุนทีมวิศวกรรมอวกาศ “คีตะ” สู่พันธกิจพาภูมิปัญญาอาหารไทยไปอวกาศ กับ NASA

               กรุงเทพฯ - จะเป็นไปได้ไหม? หากทีมวิศวกรรมอวกาศคีตะ (KEETA) ของไทยซึ่งเป็น 1 ใน 9 ทีมจากทั่วโลก ที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขันเฟสแรกในโครงการส่งอาหารไปอวกาศ ‘Deep Space Food Challenge’ ของ NASA ซึ่งเป็นการแข่งขันฉีกกฏการเตรียมอาหารให้นักบินอวกาศจำนวนมากถึง 4 คน ให้สามารถทำงานอยู่นอกโลกนานถึง 3 ปี โดยไม่ต้องพึ่งพาการเติมเสบียงใหม่จากพื้นโลกเลยแม้แต่ครั้งเดียว? 

    ซีพี ออลล์ ในฐานะภาคเอกชนไทยที่มีนโยบายส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ภายใต้ปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” จึงร่วมสนับสนุนทุนวิจัยทีมวิศวกรรมอวกาศคีตะ พัฒนาเทคโนโลยี “อาหารอวกาศ” นำเสนอภูมิปัญญาอาหารไทย วัฒนธรรมความเป็นไทยในการแข่งขันฯ ซึ่งถือเป็นผลงานความภาคภูมิใจของคนไทยและสานฝันเยาวชนไทยครั้งสำคัญให้เกิดขึ้นจริง

    ในภารกิจการสำรวจอวกาศห้วงลึกที่ต้องใช้ระยะเวลานานเช่น การส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร หน่วยงานอวกาศต้องคำนึงถึงความต้องการของนักบินอวกาศและปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเช่น อาหารที่ต้องมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ควบคู่กับความหลากหลายในรสชาติ และความเหมาะสมในการใช้งานในสภาวะของห้วงอวกาศ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การขนส่งเสบียงอาหารจากโลกไปเป็นจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการนั้นเป็นการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอย่างมหาศาล รวมถึงความยากลำบากในการผลิตอาหารที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กล่าวมาภายใต้ทรัพยากรที่เหมาะสมนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากพอสมควร

    องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration - NASA) และ องค์การอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency) และมูลนิธิเมซูเธลา ได้ร่วมมือกันเพื่อเปิดโจทย์นี้ไปยังนักวิชาการ, นักวิทยาศาสตร์, นักวิจัย, และผู้ผลิตอาหารทั่วโลก ภายใต้งานประชันอาหารอวกาศลึก หรือ Deep Space Food Challenge” หนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อแสวงหาแนวคิดทางด้านเทคโนโลยีหรือระบบการผลิตอาหารแนวใหม่ โดยใช้ทรัพยาการจำนวนจำกัด ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด เพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค มีคุณค่าทางโภชนาการ และรสชาติถูกปากนักบินอวกาศจากนานาประเทศ สำหรับภารกิจที่จะมีระยะเวลาและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ แม้จะเป็นโครงการทางด้านอวกาศ แต่เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอาจสร้างโอกาสใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั่วโลก ทั้งด้านระบบการเพาะปลูก การสกัดสารสำคัญ การพัฒนาอาหารที่มีคุณประโยชน์สูง รวมถึงการผลิตอาหารในภูมิภาคที่ขาดแคลนหรือประสบภัยพิบัติ

    “คีตะ” ทีมวิศวกรรมอวกาศจากประเทศไทย ที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกหลากหลายหน่วยงานอาทิ SPACE ZAB, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ได้ร่วมกันออกแบบระบบนิเวศขนาดเล็ก ที่นำของเสียภายในยานมาหมุนเวียน เพื่อปลูกพืชสำหรับเลี้ยงด้วงสาคู ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีโปรตีนสูง และทีมได้นำวัฒนธรรมการกินอาหารของไทยมาเป็นตัวชูผ่านเมนูที่แตกต่าง แปลกใหม่ และมีคุณค่าทางอาหาร นำไปผลิตเป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศในลักษณะของระบบวิศวกรรมขั้นสูงที่ทำงานร่วมกัน โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ได้อาหารที่มีความสดใหม่ และมีประสิทธิภาพสูงกว่าอาหารบางประเภทที่ถูกส่งไปจากโลกเพื่อรับประทานในปัจจุบัน เช่นอาหารแห้ง และอาหารพร้อมทานที่ถูกรีดน้ำออกจนหมด

    สำหรับความท้าทายของทีมคีตะหลังผ่านการแข่งขันเฟสแรกคือการลงมือทำจริง และพิสูจน์ให้เห็นว่าไอเดียนี้สามารถใช้งานได้ ในส่วนระบบทางวิศวกรรมนั้นถูกวางไว้อย่างสมบูรณ์ และโจทย์ใหญ่ในงานนี้คือเทคโนโลยีที่มีความแปลกใหม่เป็นเรื่องท้าทายในการทำให้เกิดขึ้นจริง นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ จำกัด ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่  จึงได้เดินหน้าร่วมสนับสนุนทั้งด้านทุนวิจัยและผู้เชี่ยวชาญร่วมกับบริษัทในกลุ่มซีพี ออลล์  นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด และคณะอาจารย์สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีอาวุโส สายวิชาการ, รองศาสตราจารย์ ดร.สมโรตม์ โกมลวนิช รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการและวิจัยดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมสนับสนุนการแข่งขันเพื่อให้ทีมคีตะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอาหารอวกาศนี้ให้สำเร็จ

    ปัจจุบัน ทีมคีตะถือเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากประเทศไทยและทวีปเอเชีย ที่ได้รับการคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบที่ 2 ของการแข่งขันจากทีมที่เข้าร่วมทั่วโลก และมีโอกาสสูงที่จะสามารถคว้าชัยชนะในงานนี้ได้หลังการประเมินล่าสุดโดยคณะกรรมการ ที่ได้รับการตอบรับกลับมาเป็นอย่างดี ในฐานะตัวแทนความฝันของทั้งคนไทยรุ่นใหม่และรุ่นเก๋าที่ทำงานในแวดวงอวกาศ ทีมคีตะพร้อมมุ่งหน้าเต็มกำลังเพื่อการคว้าชัยชนะในรอบที่ 2 ของการแข่งขันด้วยระบบตัวอย่างทางวิศวกรรมที่พร้อมใช้งานได้จริง และพร้อมให้ตรวจสอบโดยทีมงานจาก NASA ที่จะบินมาวิเคราะห์ผลงานถึงประเทศไทยในช่วงต้นปีหน้า

    สามารถร่วมติดตามความคืบหน้าและร่วมให้กำลังใจทีมคีตะ ได้ที่ :

    keeta.space

    facebook.com/keetaspace 

    twitter.com/keetaspace

    linkedin.com/company/keetaspace.