ผวจ.สงขลา ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากตำบลทุ่งหวัง
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 5 พ.ย. 2566, 15:00 น. อ่าน : 484สงขลา-ผวจ.สงขลา ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองฯ พร้อมประสาน ปภ.สงขลา และแขวงทางหลวงสงขลาร่วมวางแผนรับมือตลอดช่วงฤดูฝน เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 เวลา 09.30 . น. นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมประชุมหารือและติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา โดยมีนางสาวสุนารี บุญชุบ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา นายชัยวุฒิ บัวทอง นายอำเภอเมืองสงขลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงสงขลาที่ 1 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา สำนักงานชลประทานที่ 16 และหน่วยงานราชการท้องถิ่นร่วมติดตามและรายงานสภาพปัญหา เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ร่วมประชุม หารือ ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลทุ่งหวัง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ประมาณ 4 จุด สำคัญ ได้แก่บริเวณหน้าตลาดใหม่ โดยให้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 6-8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งดำเนินการเปิดช่องระบายน้ำตรงเกาะกลางถนน และบริเวณทางเท้าทันที หากมีฝนตกหนักเป็นเวลาหลายชั่วโมง ส่งผลให้น้ำระบายไม่ทัน บริเวณด้านข้างปั๊ม ปตท.ทุ่งหวัง ศาลาทวดเจ้าแม่ตะเคียนและ 4 แยกบ้านแขยง
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลทุ่งหวัง และบริเวณใกล้เคียงให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขความเดือดร้อนในระยะเร่งด่วนของพี่น้องประชาชน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่บ่อยครั้งสภาพคู คลอง แต่ละแห่งมีปัญหาตื้นเขิน คันคลองบางช่วงมีระดับต่ำ ดินโคลน และขยะเข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำ ซึ่งส่งผลต่อการระบายน้ำ
พร้อมกันนี้ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหมั่นลงตรวจสอบคู คลอง หากพบว่ามีผักตบชวา ขยะ และวัชพืช ให้เร่งเข้าไปดำเนินการจัดเก็บ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว และเกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด.