ผวจ.สตูล เผยพื้นที่ ต.เจ๊ะบิลัง เหมาะสมสร้างท่าอากาศยาน
หมวดหมู่ : สตูล, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 3 ม.ค. 2566, 15:00 น. อ่าน : 525 สตูล - ผวจ.สตูล
เผยผลการศึกษาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสร้างท่าอากาศยานสตูล คือพื้นที่ ต.เจ๊ะบิลัง
อ.เมืองสตูล ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองสตูล
ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร
ห่างจากทางหลวงประมาณ 4 กิโลเมตร
ซึ่งมีข้อดีคือเป็นพื้นที่ราบและไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใช้เวลาเดินทางสู่ตัวเมืองสตูล
31 นาที แต่มีข้อเสียคือต้องเวนคืนที่ดินทั้งหมด
นายจำเริญ
ทิพญพงศ์ธาดา ผวจ.สตูล เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสตูลว่า
กรมท่าอากาศยานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท แอมเพิล
คอนซัลแทนท์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ออมนิ โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสตูล
จ.สตูล
จากการศึกษาวิเคราะห์และจัดทำเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการก่อสร้างมี
6 ทางเลือก ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 พื้นที่ ต.ละงู
อ.ละงู และ ต.สาคร อ.ท่าแพ ทางเลือกที่ 2 พื้นที่ ต.ท่าเรือ
ต.แป-ระ และ ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ ทางเลือกที่ 3 พื้นที่ ต.ท่าเรือ
ต.แป-ระ ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ และ ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง ทางเลือกที่ 4 พื้นที่ ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมืองสตูล ทางเลือกที่ 5
พื้นที่ ต.คลองขุด และ ต.เกตรี อ.เมืองสตูล และทางเลือกที่ 6
พื้นที่ ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ และ ต.ควนโพธิ์ อ.เมืองสตูล
ผลสรุปจากการศึกษาปรากฏว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมคือทางเลือกที่ 4 พื้นที่ ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมืองสตูล ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองสตูล ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร ทางด้านทิศะวันออกเฉียงเหนือของทางหลวงหมายเลข 416 ห่างจากทางหลวงประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งมีข้อดีคือเป็นพื้นที่ราบและไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใช้เวลาเดินทางสู่ตัวเมืองสตูล 31 นาที แต่มีข้อเสียคือต้องเวนคืนที่ดินทั้งหมด และได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมสินเกียรติบุรี อ.เมืองสตูล เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโดยสรุปของโครงการ โดยกรมท่าอากาศยาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าร่วมประชุม
ล่าสุด
กรมท่าอากาศยาน ได้จัดสรรงบประมาณ ปี พ.ศ.2566 จำนวน 77.26 ล้านบาท เพื่อดำเนินการออกแบบงานก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน
องค์ประกอบอื่นๆ และอาคารที่พักผู้โดยสาร
และศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จปี 2567.