ผู้ช่วย ผบ.ตร. ลงพื้นที่ติดตามโครงการ Smart Safety Zone 4.0 สภ.เมืองสงขลา
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 1 ก.ค. 2565, 19:40 น. อ่าน : 995 สงขลา - เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2565 เวลา 11.00 น.
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./ประธานกรรมการประเมินโครงการ Smart
Safety Zone 4.0 ระยะที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ของ ตร. พร้อมด้วย
พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์
โชคชัย รอง ผบช.ทท. คณะกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มาตรวจ สภ.เมืองสงขลา
ซึ่งเป็น สน.ที่ได้อันดับที่ 3 ของ ภ.9
พบ พล.ต.ต.อาชาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา พ.ต.อ.กิตติชัย สังขถาวร รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา พ.ต.อ.ภูวรา แก้วพารัตน์ ผกก.สภ.เมืองสงขลา
พร้อมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
และภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ
บรรยายสรุปผลสำเร็จในการดำเนินโครงการฯ และสาธิตการปฏิบัติที่สำคัญในโครงการฯ
โดยมีข้อราชการที่สำคัญสั่งการดังนี้
1. โครงการ Smart
Safety Zone 4.0 ถือเป็นโครงการอย่างเป็นทางการโครงการแรกและเป็นนโยบายหลักของ
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เนื่องจากที่ผ่านมาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่ ตร.
เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบนั้น ตกเกณฑ์การประเมินทุกปี
ทั้งด้านความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชน และด้านความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ
ผบ.ตร.จึงมีนโยบายที่จะให้มีการจัดทำ People Poll เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ทุกเดือน
โดยนำโครงการ Smart Safety Zone 4.0 และนวัตกรรมต่างๆ
มาเป็นเครื่องมือในการดูแลชุมชนและสังคม เข้ามาช่วยในการทำงานด้านการป้องกันอาชญากรรมที่จะทำให้พื้นที่ปลอดภัย
ซึ่งจะให้ความสำคัญที่จุดแตกหักในพื้นที่ คือ สถานีตำรวจ
2.
โครงการนี้เป็นโครงการที่สร้างภาพลักษณ์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มภาพบวก
ก็ขอให้ดำเนินการให้เต็มกำลังความสามารถ
3.
ทุกพื้นที่ ทั้งในพื้นที่ Smart Safety Zone และนอกจากพื้นที่
Smart Safety Zone ก็ต้องปลอดภัยเช่นเดียวกัน
งานอื่นในความรับผิดชอบก็ต้องไม่ให้เสียหาย
4.
กำชับว่าสถานีตำรวจคือจุดแตกหักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ไม่มีประชาชนคนไหนเดินเข้าไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้าประชาชนเขาเดือดร้อน
เขาจะไปแจ้งความขอความช่วยเหลือที่สถานีตำรวจเป็นลำดับแรก ดังนั้น
ภาพลักษณ์หน้าตาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย่อมอยู่ที่สถานีตำรวจ
5.
เน้นย้ำการขอความร่วมมือประชาชนในการเชื่อมโยงกล้องประชาชนภาคเอกชน มายัง CCOC
ซึ่งเป็นการเพิ่มกล้อง CCTV โดยไม่ต้องลงทุน
แต่ ผกก.หน.สน./สภ. ต้องไปลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนโดยตรง
จัดการประชุมทำความเข้าใจและเชิญประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ
ชมการทำงานของห้อง CCOC ให้ประชาชนได้เห็นภาพ
ได้เข้าใจการทำงานยุคใหม่ของตำรวจ
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะไม่นำภาพไปทำอะไรเสียหาย
6. การประชุมภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ หรือ BIG 6 ต้องจัดประชุมเป็นประจำทุกเดือน และในการประชุมต้องเกิดประโยชน์ ต้องมีสาระสำคัญของการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ร่วมกัน และมีความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรม
7. ดึงความร่วมมือของอาสาสมัครตำรวจบ้านร่วมตรวจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ตำรวจ 1 อาสา 1 หรือ ตำรวจ 1 อาสา 2 เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่.