ม.ทักษิณ ทำฐานข้อมูล จ.พัทลุง จ้างงาน 1,300 ตำแหน่ง
หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป, ภาคใต้,
โฟสเมื่อ : 9 มิ.ย. 2563, 11:16 น. อ่าน : 1,590พัทลุง- มหาวิทยาลัยทักษิณ เตรียมยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดพัทลุง แบบบูรณาการรายตำบล จ้างงาน เฟส 2 รับ 1,300 อัตรา
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนากำลังคน พัฒนาทักษะใหม่ และการลดความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน “Targeted Poverty Alleviation” โดยให้ดำเนินการเป็นหน่วยจ้างงานเพื่อดำเนินโครงการของหน่วยงานต่างๆ ในตำบล ทั้งนี้ ต้องระบุพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือ และสามารถเข้าไปเป็น System Integrator ในระดับตำบล
ดร.ว่าที่ ร.ต.พลกฤษณ์ คล้ายวิตภัทร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ พัทลุง กล่าวว่า โครงการนี้มีประโยชนต่อตำบลในพื้นที่ คือ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็น System Integrator เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน เกิดการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน และเพื่อให้เกิดการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) โดยครอบคลุมประเด็น พัฒนาสินค้าและบริการชุมชน, พัฒนาการตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก, ส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานชุมชน, ส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นตนเอง, พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน และด้านอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของตำบล
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะประสานงานและทำงานร่วมกับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมพื้นที่ 65 ตำบล 11 อำเภอ ของจังหวัดพัทลุง ด้านองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนรายตำบล (Community Big Data) เพื่อให้เป็นข้อมูลการวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน คาดว่าจะสามารถจ้างงานได้ทั้งหมด 1,300 อัตรา ประมาณ 15-20 คนต่อตำบล โดยแบ่งเป็นประชาชนทั่วไป (25%) บัณฑิตจบใหม่ (50%) และนักศึกษา (25%) สามารถเริ่มจ้างงานได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 รวมระยะเวลา 12 เดือน
ดร.ทวนธง ครุฑจ้อน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ สงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงนี้เป็นโครงการต่อเนื่องกับโครงการจ้างงานอาสาสมัครชุมชนมหาวิทยาลัยทักษิณ สู้โควิด ที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจ้างงานไปแล้ว จำนวน 325อัตรา ซึ่งมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก และขณะนี้อาสาสมัครชุมชนได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนในระยะแรกเพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานภายในตำบล เช่น แผนที่ชุมชน สถานประกอบการชุมชน แหล่งท่องเที่ยว พืช/สัตว์เศรษฐกิจ แหล่งน้ำในชุมชน ขยะและมลภาวะ กลุ่ม/องค์กร/ชมรม และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน เพื่อประสานงานกับประชาชนในพื้นที่ อธิบายขั้นตอนการสำรวจและการจัดทำข้อมูลด้านโรคติดต่อชุมชน Smart Farming ในชุมชน การจัดการขยะชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์การบริหารจัดการน้ำชุมชน การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รวมถึงการชี้แจงรายละเอียด ถ่ายทอด เผยแพร่ และรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีความจำเป็น อีกทั้ง ความต้องการ ปัญหา และอุปสรรค เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ในพื้นที่
เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว อาสาสมัครชุมชนและการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคและเครื่องมือต่างๆ ของอาสาสมัครชุมชน และอาจารย์ที่ปรึกษาในแต่ละตำบล เกิดเป็นโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับชุมชน
ที่สอดคล้อง เหมาะสม และตอบสนองตามความต้องการของชุมชนทั้ง 65 ตำบล ในจังหวัดพัทลุงอย่างแท้จริง
มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เชิญผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้แทน 73 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง เข้าร่วมประชุมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดพัทลุงแบบบูรณาการรายตำบล เมื่อบ่ายวันที่ 2 มิ.ย.2563 ที่โรงแรมศิวา รอยัล อำเภอเมืองพัทลุง เพื่อชี้แจงแนวคิด 2 โครงการของมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้แก่ 1. โครงการอาสาสมัครชุมชน (อสช.) สู้ภัยโควิดภายใต้โครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 และ 2. โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ
พร้อมกันนี้ได้ชี้แจงรายละเอียดโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการกับการพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดพัทลุงด้วยcommunity big data และ community map รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สอบถาม และแสดงเจตจำนงร่วมพัฒนาโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้แทน 73 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง และผู้บริหารมหาวิทยาลัยทักษิณ