มทร.ศรีวิชัย ร่วมขับเคลื่อน ‘นครสงขลา เมืองน่าอยู่’

หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,

อ่าน : 612
มทร.ศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัย นครสงขลา เมืองน่าอยู่
มทร.ศรีวิชัย ร่วมขับเคลื่อน ‘นครสงขลา เมืองน่าอยู่’

               สงขลา - คณะวิจัย มทร.ศรีวิชัย เข้าพบคณะผู้บริหารเทศบาลนครสงขลา ถือโอกาสร่วมยินดีและอวยพรปีใหม่ พร้อมร่วมปรึกษาหาแนวทางนโยบายการพัฒนา ‘นครสงขลา สู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน’ ต่อยอดแผน Smart City ปี 63 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565

    รศ.ดร.จารุวัฒน์ เจริญจิต รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชลัท ทิพากรเกียรติ ผศ.ดร.ฐานวิทย์ แนมใส ผศ.ดร.ธีระวัฒน์  เพชรดี และ ดร.วสุ สุขสุวรรณ นักวิจัย และอาจารย์ประจำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) ได้เข้าร่วมสวัสดีและอวยพร นายวันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีนครสงขลา และคณะผู้บริหาร เนื่องในเทศกาลปีใหม่ พร้อมปรึกษาหารือเดินหน้าต่อยอดพัฒนาโครงการวิจัย ยกระดับเทศบาลนครสงขลาสู่เมืองอัจฉริยะและสังคมคาร์บอนต่ำ จากการถอดบทเรียน และเสียงของชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ ศักยภาพพื้นที่เมืองและโครงสร้างพื้นฐานรองรับยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะ งบประมาณปี 2563 ซึ่งสำเร็จลุล่วงผลงานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาจังหวัดสงขลาเป็นที่เรียบร้อย

    รศ.ดร.จารุวัฒน์ เจริญจิต กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพเมือง สิ่งแวดล้อมนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และยังเป็นการต่อยอดงานวิจัยเดิมที่สามารถขยายผล รองรับแผนสอดคล้องกับนโยบายบริหารราชการของสภาเทศบาลนครสงขลา เป้าหมาย “เพื่อพัฒนานครสงขลาการไปสู่เมืองน่าอยู่ที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง เป็นเมืองน่าลงทุนที่เชื่อมโยงกับกิจกรรม กีฬา และการท่องเที่ยว” มทร.ศรีวิชัย เรามีศักยภาพด้านการวิจัยและการพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมอยู่แล้ว จึงพร้อมผลักดันแผนและนโยบายดังกล่าวในทันที

    รศ.ดร.จารุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะวิจัยของ มทร.ศรีวิชัย ต้องการพัฒนาเทศบาลนครสงขลา ให้สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยการท้องถิ่น และเสียงความต้องการที่แท้จริงของชุมชน เพื่อการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาเราได้เริ่มนำแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบ Smart City เข้าสู่เทศบาลนครสงขลาตั้งแต่ปี 2563 เริ่มจากการสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน มีการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งก็คือคนในชุมชน นำไปสู่การพัฒนาโครงการนำร่อง ได้แก่ เครื่องวัดมลพิษทางอากาศ พื้นที่สาธารณะสีเขียว สัญญาณทางข้ามอัตโนมัติหน้าโรงเรียน และแผนแม่บทด้านจราจรและขนส่ง จากนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน.