รังนกพัทลุง ประมูล 500 ล้าน สำรวจแล้ว รวม 7 เกาะ ปริมาณเพิ่ม
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, พัทลุง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 31 มี.ค. 2564, 20:21 น. อ่าน : 1,698 นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์
ผวจ.พัทลุง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง
ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง
จะดำเนินการให้สัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นในเขตท้องที่ตำบลเกาะหมาก อ.ปากพะยูน
จ.พัทลุง ซึ่งมีเกาะที่มีรังนกอีแอ่นอยู่ตามธรรมชาติ จำนวน 7 เกาะ ได้แก่
เกาะหน้าเทวดา เกาะรู้สิ้ม เกาะท้ายถ้ำดำ เกาะกันตัง เกาะตาโส เกาะยายโส และเกาะรอก
มีกำหนดระยะเวลาให้สัมปทาน 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 - 14 มิถุนายน
2569 โดยกำหนดราคากลางเป็นเงิน 500 ล้านบาท
โดยจะรับพิจารณาราคาที่ยื่นเสนอไม่ต่ำกว่าราคากลาง
โดยผู้เสนอราคาจะต้องยื่นซองเสนอราคาต่อคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น
ในวันที่ 29 เมษายน 2564 ระหว่างเวลา 09.00-11.00 น. ณ ห้องประชุม อิรวดี ชั้น 3
ศาลากลางจังหวัดพัทลุง
นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายแก่รัฐ
ผู้เสนอราคาต้องวางหลักประกันซองเป็นเงินร้อยละ 10 ของราคากลาง เป็นเงิน 50
ล้านบาท ผู้สนใจติดต่อขอซื้อเอกสารประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง
ในราคาชุดละ 30,000 บาท โดยลงชื่อในบัญชีผู้ซื้อเอกสารไว้ด้วย ในระหว่างวันที่ 18
มีนาคม - 28 เมษายน 2564 ในวันและเวลาราชการ ณ กองคลัง
องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง อ.เมืองพัทลุง
และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทางโทรศัพท์หมายเลข 074-611603
ในวันและเวลาราชการ หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็ปไซด์ อบจ.พัทลุง www.phatthalungpao.go.th และที่เว็ปไซด์จังหวัดพัทลุง www.phatthalung.go.th
ด้าน
นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง
หัวหน้าคณะทำงานพิจารณากำหนดราคากลางและกำหนดระยะเวลาการให้สัมปทานเงินอากรรังนกอีแอ่นท้องที่จังหวัดพัทลุง
กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลการจัดเก็บรังนกในการสัมปทานในครั้งที่ผ่านมานั้น
พบว่าปริมาณรังนกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี
จึงได้จัดทำสถิติการจัดเก็บรังนกทั้ง 3 ชนิด มาตั้ง 5 ปีที่ผ่านมา
มาเฉลี่ยกับราคารังนก และได้สรุปราคากลางการสัมปทานไว้ที่ราคา 550 ล้านบาท
โดยมีอายุสัมปทาน 5 ปีเหมือนกับการสัมปทานรังนกทั่วประเทศไทยทั้ง 9 จังหวัด
สำหรับราคากลางดังกล่าวนี้ได้หักให้ผู้ดำเนินการ 20% แต่ในขณะนี้การประมูลรังนกฯ
อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางคณะทำงานพิจารณากำหนดราคากลางฯ จึงลดอีก 30%
จึงเหลือราคากลางอยู่ที่ 500 ล้านบาท ดังกล่าว
นายวิสุทธิ์ เปิดเผยอีกว่า การประมูลรังนกฯ ของจังหวัดพัทลุงนั้น
ประชาชนได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ตนจึงได้เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง
ได้ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม ตนมั่นใจว่าการประมูลรังนกฯ
ในครั้งนี้ จะไม่มีปัญหาและอุปสรรคเหมือนครั้งที่ผ่านมา
เนื่องจากกลุ่มบริษัทที่สัมปทานรังนกฯ ตามจังหวัดต่างๆ
ได้พูดเป็นเสียงเดียวกันรังนกของจังหวัดพัทลุงเป็นรังนกที่ดีมีคุณภาพมากที่สุดของประเทศไทย
การกำหนดราคากลางการประมูลรังนกจึงต้องมีที่มาที่ไปจากการซื้อขายรังนกในประเทศไทยและเมืองเซี่ยงไฮ้
ประเทศจีน
ผู้สื่อข่าว
จ.พัทลุง รายงานว่า การประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่น จ.พัทลุงที่ผ่านมานั้น
มีตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2552 -3 พฤษภาคม 2559 กำหนดราคากลางไว้ที่ 627 ล้านบาท โดยระยะเวลาสัมปทาน 7 ปี
กำหนดราคากลางไว้ที่ 627 ล้านบาท กำหนดเงินประกันซองร้อยละ 75 และกำหนดวงเงินประกันสัญญาร้อยละ 75
และหลังจากอายุการสัมปทานรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุงที่ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุงจึงได้ประกาศดำเนินการประมูล
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 โดยวิธียื่นประมูลราคาโดยวิธีพิเศษ ซึ่งมีผู้ยื่นประมูล 3 ราย
ได้แก่ บริษัท จิราธาร เอเจนซี่ จำกัด เป็นเงิo 429,000,000.- บาท บริษัท สยามเนสท์ 2559 จำกัด เป็นเงิน 450,000,000.-บาท และ บริษัท เค.โอ.ซี อิมปอร์ต เอ็กปอร์ต จำกัด เป็นเงิน 418,322,520.-บาท คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกฯ พัทลุง มีมติให้ บริษัท สยามเนสท์
2559 จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยวงเงิน 450 ล้านบาท สัญญา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2559 - 14 มิถุนายน 2564
ส่วนปริมาณและน้ำหนักรังนกอีแอ่นได้เพิ่มขึ้นทุกๆ
ปี โดยรังนกขาวชนิดที่ 1 ในปี 2563 ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 3,819 รัง คิดเป็นร้อยละ 5.95 มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 26.42 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 4.93 รังนกขาวชนิดที่ 2 ในปี 2563 ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 3,156 รัง คิดเป็นร้อยละ 3.14 มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 13.51 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 1.68
รังนกขาวชนิดที่ 3 ในปี 2563 ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 13,446 รัง คิดเป็นร้อยละ 10.66 มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 78.90 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 8.27 ดังนั้นรวมรังนกขาวทั้ง
3 ชนิด ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 20,421 รัง คิดเป็นร้อยละ 7.02 มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 118.83 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 5.18.