สสส. ชวนมาฟัง ต้อนรับ “เดือนการฟังแห่งชาติ” ครั้งแรกของไทยและโลก
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 7 พ.ย. 2567, 08:00 น. อ่าน : 145 กรุงเทพฯ - เข้าสู่ช่วงเทศกาลนับถอยหลังสิ้นปี ที่เราต่างวางแผนทำกิจกรรมร่วมกับคนที่รัก ไม่ว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยว พักผ่อน หรือกลับบ้านไปหาครอบครัว สำหรับเดือนพฤศจิกายน มีอีกหนึ่งความสำคัญ ที่น่าสนใจอย่าง “เดือนการฟังแห่งชาติ” โดยความร่วมมือจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ภาคีภาครัฐ และภาคเอกชน จัดอีเวนต์ต้อนรับเดือนแห่งการฟัง โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “เดือนการฟังแห่งชาติ” หรือ “National Month of Listening” เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลความสัมพันธ์ด้วย “การฟัง” หวังเยียวยาปัญหาจิตใจที่เกิดจากภัยความเหงา และรู้สึกโดดเดี่ยว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า จากงานวิจัยความสัมพันธ์ทางสังคมกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตโดยการวิเคราะห์อภิมาน โดย J. Holt-Lunstad และคณะ ในวารสารวิชาการ PLOS Medicine ระบุว่า อันตรายของความเหงาเทียบเท่ากับสูบบุหรี่ถึงวันละ 15 มวน หรือดื่มเหล้าวันละ 6 แก้ว ในทางกลับกันอีกมุมของความเป็นจริง ความเหงาเหล่านี้ เป็นเหมือนประตูสู่การหันไปใช้ความสุขเทียม ไม่ว่าจะการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติด ที่ล้วนไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง นำมาสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตได้ สอดคล้องกับงานวิจัยอีกหลายชิ้น อย่างที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า ชีวิตที่ดีเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ส่งผลต่อการมีชีวิตที่ยืนยาวและลดอัตราการเกิดโรคสมองเสื่อม นอกจากนี้ ความเหงาและความโดดเดี่ยว ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน อาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การเสพติดสุรา บุหรี่ เสี่ยงป่วยโรควิตกกังวล ซึมเศร้า และสมองเสื่อม เรียกได้ว่าเป็นภาวะขาดการสัมพันธ์เชื่อมโยง (Lack of social connection) ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการกำหนดให้เดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนการฟังแห่งชาติ ครั้งแรกของไทยและของโลก
ไฮไลท์ชวนมาฟังแลกเปลี่ยนบนเวที “การฟังด้วยหัวใจ”
นายนที เอกวิจิตร หรือ “อุ๋ย บุดด้าเบลส” เจ้าของรายการ “คุยกับอุ๋ย” ทางช่อง YouTube ได้พูดถึงประโยชน์ของการฟังว่า การที่เราอยู่ท่ามกลางความเงียบ เสมือนเราได้กลับมาฟังใจตัวเอง เพราะส่วนใหญ่เราต่างฟังคนอื่นมากกว่าตัวเอง แต่การฟังด้วยหัวใจเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะการฟังคนในครอบครัว คนใกล้ตัว ยิ่งเรียนรู้มาก ก็ยิ่งรู้ว่าการฟังที่ยากที่สุดคือการฟังตัวเอง เพราะเราจะไม่ได้ยินด้วยเสียง แต่เป็นความคิดที่เกิดขึ้น ณ ความรู้สึกช่วงนั้นๆ ขณะเดียวกัน การฟังคนใกล้ตัว คนในบ้าน คนในครอบครัว ทำให้เราได้รู้ถึงความรู้สึก หรือปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเราเองอาจจะไม่ได้เห็นตรงกับเขาไปทุกเรื่อง หรือว่าเขากำลังเดินทางผิด เราเองก็อาจจะอดไม่ไหวที่จะตักเตือน หรือเรียกว่า “คันปาก” เป็นการเผลอตัดสินไปแล้วนั่นเอง โดยสิ่งที่เป็นกับดักของการฟังคือ “อคติ” ที่ผู้ฟังมักจะเผลอไปตัดสินคนพูด ดังนั้น ผู้ฟังเองก็ควรจะต้องรู้เท่าทันตัวเอง เพื่อให้เป็น “การฟังโดยไม่ตัดสิน”
“เวลาที่เราฟังคนที่กำลังระบาย เราอาจตัดสินทีหลัง หรือตัดสินในใจก็ได้ แต่ระหว่างที่ฟัง รอฟังให้จบก่อน อย่างที่เราเล่นอินเทอร์เน็ตแล้วมีประเด็น หรือการพาดหัวที่ดึงดูดใจ เราก็มักจะไปคอมเมนท์ก่อน แต่หลายครั้งที่เราจะเห็นว่าพาดหัวกับเนื้อข่าว อาจตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ถ้าเราเผลอไปตัดสินก่อน ไม่หาข้อมูลให้รอบด้าน ก็จะเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวง”
การเป็น นักบำบัดจิตอาสา (Therapist) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้ตนได้เรียนรู้จากการฟังว่า เมื่อได้ฟังผู้พูดไปเรื่อยๆ โดยไม่ตัดสินด้วยอคติ ทำให้รู้ถึงกระบวนความคิดว่า ทำไมคนเหล่านั้นถึงคิดเช่นนั้น บางครั้งเรื่องราวที่ได้ฟังอาจจะดูรุนแรง แต่หากได้ฟังไปเรื่อยๆ เราจะเห็นที่มาของความคิดเหล่านั้น เห็นประสบการณ์ของเขาที่ทำให้เกิดกระบวนการคิดเช่นนี้ โดยการฟังไม่จำเป็นว่าเราต้องเห็นด้วยกับเขาในทุกเรื่อง เพียงแต่อย่างน้อยให้เขาได้มีที่ระบาย เพราะการที่คนหนึ่งจะระบายให้ใครฟังได้ จะต้องมีความให้เกียรติและเชื่อใจผู้ฟังมาก อย่างการเป็นนักบำบัดที่มีผู้มาเล่าชีวิตของเขาโดยละเอียดให้เราฟัง เรื่องที่เขาไม่เคยเล่าให้ครอบครัวฟัง ว่าเขาเจออะไรมากบ้าง ยิ่งทำให้เห็นว่าชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ฉะนั้น เวลาที่มีคนมาเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง ตนจะรู้สึกซาบซึ้งที่เขาไว้ใจ และให้โอกาสเราเป็นผู้ฟังที่ดี
“ระบายความทุกข์” เพื่อสร้างผู้ฟังที่ดี
หลายครั้งที่ตนได้เรียนรู้ว่าการฟังที่ดีคือการเงียบโดยไม่พูดอะไร หลายครั้งที่การเงียบสร้างประโยชน์ได้ดีมากกว่าการพูดด้วยซ้ำ ซึ่งความเงียบเป็นสิ่งที่ผู้ฟังมักจะกลัว เพราะไม่รู้จะแก้สถานการณ์ตรงหน้าอย่างไร ยิ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ผู้พูด มีอารมณ์เสียใจ หรือร้องไห้ บางครั้งการปล่อยให้เขาได้ระบายความรู้สึกที่ท่วมท้น ด้วยการไม่ใช้คำพูด ใช้เพียงภาษากายให้เขาสัมผัสได้ว่ายังมีเราอยู่ข้างๆ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ผู้พูดได้เรียนรู้กับการอยู่กับอารมณ์ของตัวเอง เมื่อความรู้สึกนั้นค่อย ๆ จางหายไป เขาก็พร้อมที่จะพูดต่อได้ จากนั้น เราจึงค่อยๆ สรุปและทบทวนกลับว่า สิ่งต่างๆ ที่ได้ฟังมานั้น ถูกต้องหรือไม่ สิ่งนี้จะทำให้ผู้พูด เกิดความรู้สึกที่ดีอย่างวิเศษ ที่มีคนรับฟังเรื่องของเขาอย่างตั้งใจ ฟังด้วยความเข้าใจจริง
“หลายคนบอกว่าการฟังความทุกข์ของคนอื่น ทำให้เราทุกข์ แต่ผมรู้สึกว่า เราไม่ใช้คำว่าถังขยะ แต่ให้นึกภาพตะแกรงที่รั่ว แต่ก็ออกไปไม่หมด ดังนั้น ไม่ผิดเลยที่เราฟังแล้วจะมีอารมณ์ร่วมไปด้วย เพื่อให้เราได้เข้าใจเขา ผมว่าดีด้วยซ้ำ หลายครั้งผมก็เป็นแบบนั้น ผมทุกข์และเศร้าไปกับเขา แต่เราจะไม่อยู่กับอารมณ์นั้นนาน ถ้าเราฝึกฟังตัวเองบ่อยๆ เราจะวางได้เร็ว เมื่อมีสติก็จะมีทางเลือกที่จะชวนเขามองทางเลือกอื่นๆ ต่อไปได้”
เมื่อตนได้ยินคนที่บอกว่า ไม่อยากเอาความทุกข์ไปโยนใส่คนอื่น ตนก็มักจะตั้งคำถามกลับไปว่า หากมีใครซักคนมาระบายให้คุณฟัง คุณจะรู้สึกอย่างไร ทุกครั้งก็มักจะได้ยินคำตอบว่า รู้สึกดีที่ได้แบ่งเบาทุกข์ให้คนอื่นบ้าง ดังนั้น ในทางกลับกัน การที่เราระบายให้คนอื่นฟังก็เป็นการเปิดโอกาสให้คน ๆ นั้นได้ฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดีไปด้วย
ความท้าทายของ “เดือนแห่งการฟัง”
การรับฟังเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันการมีอยู่ของผู้พูด เมื่อมีคนที่ตั้งใจฟัง สามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้พูด และเมื่อการสนทนาจบลง ผู้ฟังสามารถสรุปเรื่องที่ตัวเองฟังได้ ยิ่งเป็นการย้ำว่า เรื่องที่ผู้พูดได้พูดออกไปนั้น มีคนรับฟังอยู่จริง ตนเคยได้พบประสบการณ์หลายครั้งที่น่าแปลกใจ และพบได้มากขึ้นในปัจจุบัน ที่หลายคนอยากเล่าเรื่องดีๆ แต่กลับไม่มีครอบครัวรับฟัง ทำให้เขาต้องไปหาคนอื่นมารับฟังแทน เกิดเป็นความเหงาขึ้นมาก ยิ่งการมีโซเชียลมีเดีย ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดวงจรที่ต่างคนต่างอยากพูด ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ฟังไม่เป็นก็มักจะเป็นคนที่พูดเยอะ เพราะพูดจนไม่ได้ฟัง ฉะนั้น การฝึกให้ฟังให้เป็น ต้องเริ่มจากการพูดให้น้อยลง และอย่าด่วนตัดสินในสิ่งที่เห็น
“เดือนนี้เป็นเดือนการฟังแห่งชาติ อีกหนึ่งวิธีที่ได้ฝึกการฟัง คือลดการพูดหรือการวิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย อาจจะลองด้วยการไม่วิจารณ์ข่าวเลย เป็นเพียงคนอ่านที่รู้ข่าวสาร ด้วยความรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองว่า เรากำลังมีความรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ได้อ่านตรงหน้าโดยไม่ตัดสินใดๆ”
ขณะเดียวกัน ตนรู้สึกว่าชีวิตมีความสุขมากขึ้นในช่วงที่ได้เข้ามาเป็นนักบำบัดจิตอาสา ที่ได้รับฟังคนอื่นๆ มากขึ้น อย่างที่หลายคนบอกว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หากมีโอกาสให้ไปลองทำงานจิตอาสาเพื่อให้รู้ว่าตัวเรายังมีคุณค่าในโลกนี้อยู่ ซึ่งตนพิสูจน์แล้วว่า เป็นแบบคำบอกนั้นจริง ๆ แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นนักบำบัดที่เรียนทักษะการบำบัดมาโดยตรง แต่แค่เราได้นั่งฟังคนที่อยากมาระบายให้ฟัง ให้เขาได้รู้สึกว่ามีคนเข้าใจเขาอยู่ เรื่องเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเชื่อ แต่สามารถตั้งสมมติฐานเพื่อทดลองด้วยตัวเอง ถ้าทำแล้วไม่ดีขึ้น ก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราฟังแล้ววางไม่เป็นหรือไม่ เราเก็บมาเป็นทุกข์ของตัวเราเองหรือไม่ แต่ตนอยากให้ทุกคนได้มาลองฟัง แล้วมาดูกันว่าชีวิตหลังจากที่ได้ฟังคนอื่นมากขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมเดือนการฟังแห่งชาติ ตลอดเดือน พ.ย. 67 สามารถติดตามรายละเอียดและเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ความสุขประเทศไทย และเว็บไซต์ Listen.HappinessisThailand.com.