สหกรณ์ยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำ ทางออกยางแผ่นคุณภาพ เพื่อชาวสวนยาง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 18 ส.ค. 2564, 13:11 น. อ่าน : 1,719“สหกรณ์กองทุนสวนยาง” คือ การรวมกลุ่มของเกษตรกรสวนยางพาราเพื่อแปรรูปน้ำยางเป็นยางแผ่นรมควัน นับเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยปัจจุบันมีสหกรณ์กองทุนสวนยางกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ขณะที่ราคายางมีแนวโน้มลดลง การผลิตยางแผ่นรมควันซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนที่สูงและบางครั้งไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ เกษตรกรจึงมีรายได้ลดลง นอกจากนั้นกระบวนการนี้ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและน้ำเสียส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบสหกรณ์อีกด้วย
ห้องรมควันยางประสิทธิภาพสูง
ระบบผลิตและใช้งานก๊าซชีวภาพ
และห้องรมควันยางประสิทธิภาพสูง เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มศักยภาพให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางอย่างยั่งยืนจึงต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควัน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบพลังงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินโครงการ “เสริมสร้างศักยภาพศูนย์การเรียนรู้เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน จังหวัดสงขลา” เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้การติดตั้งใช้งานเทคโนโลยีการผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพ พร้อมกับห้องรมควันยางแผ่นประสิทธิภาพสูง ที่ทำให้ลดต้นทุนการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายขาวจำกัด อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยเริ่มดำเนินโครงการฯ เมื่อปี 2558
ห้องรมควันยางประสิทธิภาพสูง
ที่ผ่านมา โครงการฯ
ได้พัฒนาต่อยอดโดยประยุกต์ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับลดค่าไฟฟ้าในการผลิตยางแผ่น
และการหมุนเวียนใช้น้ำทิ้งจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำยางในสวนยางพารา
เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพยางแผ่นรมควัน และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด
ซึ่งทำให้การผลิตยางแผ่นรมควันสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การใช้น้ำเสียจากกระบวนการรมควันยางมาบำบัดและหมักเป็นก๊าซชีวภาพในระบบปิดนั้นจะขจัดกลิ่นเหม็นรบกวน
ทั้งยังนำก๊าซที่ได้ไปใช้ในการรมควันยางแผ่นร่วมกับไม้ฟืน
ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากบ่อบำบัดน้ำเสียได้ด้วย
และน้ำทิ้งที่อุดมด้วยสารอาหารสามารถใช้เป็นปุ๋ยน้ำแก่สวนยางพาราโดยรอบ
นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมเทคนิควิธีการลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันต่างๆ
ไว้ในศูนย์ฯ ด้วย โดยเทคโนโลยีชุดนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบสหกรณ์ยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำ
เพื่อขยายผลความสำเร็จสู่สหกรณ์กองทุนสวนยางแห่งอื่นๆ ในประเทศต่อไป
ศ.ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการโครงการพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเพื่อสหกรณ์กองทุนสวนยาง กล่าวว่า “โจทย์ในการพัฒนาระบบผลิตและใช้งานก๊าซชีวภาพ และใช้ประโยชน์น้ำเสียอย่างครบวงจร คือการออกแบบที่ทำให้ดูแลรักษาระบบได้ง่ายที่สุดสำหรับเกษตรกร ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ทั่วไปสามารถจัดหาได้ในท้องถิ่น และมีค่าใช้จ่ายในดูแลจัดการต่ำที่สุด เพื่อช่วยชาวสวนยางให้สามารถนำไปติดตั้งใช้งานในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพที่พิสูจน์แล้ว ซึ่งเมื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันจึงทำให้สหกรณ์ได้รับผลกำไรที่มากขึ้น คุ้มค่าในระยะยาวและดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะระบบผลิตและใช้งานก๊าซชีวภาพในห้องรมควันนี้จะช่วยประหยัดต้นทุนไม้ฟืนลงกว่า 30% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการบำบัดของเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพและนำกลับมาใช้ใหม่แทนไม้ฟืน นอกจากนี้ยังลดปัญหากลิ่นเหม็นจากน้ำเสียได้มากถึง 90% และทำให้ผลผลิตยางแผ่นรมควันที่มีคุณภาพสูง สีของแผ่นยางเหลืองใสไม่หมอง จึงสามารถนำเข้าสู่ท้องตลาดในราคาดี”
ระบบการทำงานของห้องรมควันยางประสิทธิภาพสูง
ศ.ดร.พีระพงศ์
ทีฆสกุล สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
และหนึ่งในผู้พัฒนาห้องรมควันยางแผ่นประสิทธิภาพสูงกล่าวเสริมว่า
“การผลิตยางแผ่นรมควันต้องใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงหลักในการสร้างความร้อนและควัน
ซึ่งห้องรมควันยางแผ่นประสิทธิภาพสูงผนวกเข้ากับการใช้ระบบก๊าซชีวภาพไม่เพียงแต่ช่วยลดการใช้พลังงานมากถึง
30% แต่ยังสามารถควบคุมพลังงานความร้อนได้ทั่วถึงและแม่นยำมากขึ้น
ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ จึงลดทั้งต้นทุนการผลิตและยังทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาดีรวมถึงลดระยะเวลาในการรมควันยางแผ่นได้ถึง
1 ใน 3 อีกด้วย”
ส่งต่อความรู้
สู่การขยายผล
นอกจากการติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพของยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายขาวยังเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบสหกรณ์ยางแผ่นรมควันคาร์บอนต่ำให้สมาชิกสหกรณ์ชาวสวนยางในพื้นที่อื่นๆ ได้เข้ามาศึกษา เพื่อส่งต่อความรู้ในการจัดการสหกรณ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น โครงการฯ จะขยายผลความสำเร็จโดยติดตั้งเทคโนโลยี และสร้างศูนย์การเรียนรู้เป็นแห่งที่สอง ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านยูงทอง จังหวัดสงขลา โดยอยู่ในระหว่างดำเนินการซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า
ภาพโครงการศูนย์การเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน
ศ.ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ กล่าวว่า “ที่ศูนย์การเรียนรู้ทั้งสองแห่งจะมีวิทยากรคอยต้อนรับพร้อมด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่าง QR Code ที่ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้อย่างง่ายดายและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ฟรีทั้งข้อมูลการออกแบบและการพัฒนาห้องรมควันประสิทธิภาพสูง รวมถึงระบบหมักก๊าซชีวภาพที่ใช้จุลินทรีย์ในการบำบัดของเสียให้เกิดเป็นก๊าซมีเทนที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลงทดแทนไม้ฟืนได้ และยังสามารถนำน้ำที่บำบัดแล้วมาใช้ในการเกษตรได้เพราะในน้ำบำบัดจะมีแร่ธาตุที่ให้สารอาหารแก่ต้นยางจึงผลิตน้ำยางได้มากขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้เราได้ลดภาระค่าไฟฟ้าในระยะยาวด้วยการติดตั้งโซล่าปั๊มในศูนย์การเรียนรู้เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำไปใช้ต่อ และเปิดศูนย์การเรียนรู้ให้แก่ชาวสวนยางและกลุ่มสหกรณ์ยางแผ่นรมควันให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตัวเองอีกด้วย
ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายขาว ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ
ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา
โครงการเสริมสร้างศักยภาพศูนย์การเรียนรู้เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควัน
จังหวัดสงขลา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
สามารถพัฒนาเทคโนโลยีห้องรมควันยางแผ่นประสิทธิภาพสูงที่ไม่เพียงตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรสวนยางและลดผลกระทบที่มีต่อชุมชนทั้งด้านกลิ่นและควัน
แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนไม้ฟืนในการรมควันยางแผ่น
การใช้แผงโซล่าเซลล์สำหรับสูบน้ำ เป็นต้นแบบสหกรณ์รมควันยางคาร์บอนต่ำ
ให้เกษตรกรและผู้สนใจได้มาดูงาน
ทั้งยังได้ขยายผลความสำเร็จด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งที่สอง เพื่อส่งต่อเทคโนโลยีและความรู้ในการดำเนินกิจกรรมด้านการประหยัดพลังงาน
การใช้พลังงานทดแทน และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางแห่งอื่นๆ
ซึ่งมีอยู่กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”.
ห้องเผาไหม้เชื้อเพลิง ภาพไม้ฟืนที่มีขนาดเหมาะสม
ภาพบรรยากาศการฝึกอบรม
ณ ศูนย์การเรียนรู้