เตือน! ระวัง”ไข้หวัดนก”ระบาดในไทย พบผู้ป่วย-เสียชีวิตในกัมพูชา
หมวดหมู่ : นครศรีธรรมราช, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 5 พ.ย. 2566, 09:20 น. อ่าน : 531นครศรีธรรมราช-สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 เตือนระวังโรคไข้หวัดนก หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่ประเทศกัมพูชา ย้ำห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมารับประทาน หากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง
นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่าสถานการณ์โรคไข้หวัดนก H5N1 ในประเทศไทย จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบผู้ติดเชื้อรวม 25 ราย(รายแรกในปี พ.ศ. 2546 และรายสุดท้ายในปี พ.ศ. 2549) มีผู้เสียชีวิต 17 ราย แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม แต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งในคนและในสัตว์อย่างเข้มข้น เนื่องจากประเทศไทยยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ผ่านการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดน
โรคไข้หวัดนก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) ที่พบในสัตว์ปีก เชื้อมีหลายสายพันธุ์และบางสายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ เช่น H5 และ H7 สามารถพบเชื้อได้ในสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีก จากจมูก ปาก ตา และมูลของสัตว์ปีก อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจลำบากและอาจพบอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง หรือชักเกร็งได้ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น เยื่อบุตาอักเสบอาการทางเดินหายใจส่วนต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ จนถึงปอดอักเสบเสียชีวิต
นายแพทย์ไกรสร กล่าวเพิ่ม โรคไข้หวัดนก สามารถป้องกันได้โดยการ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ห้ามนำไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน รับประทานเนื้อไก่ และไข่ที่ปรุงสุก ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำ หลังสัมผัสสัตว์ปีกหรือสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีก หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายจำนวนมาก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย และให้ดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด หากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หายใจลำบาก หรือหอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติสัมผัสสัตว์ปีก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.