โฆษกกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพคนพิการที่สงขลา
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 22 พ.ย. 2565, 21:00 น. อ่าน : 475สงขลา-รมว.แรงงาน ส่งโฆษกกระทรวงลงพื้นที่ อ.ระโนด ส่งเสริมอาชีพคนพิการหลังฟื้นฟู สู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กำลังใจกลุ่มหัตถกรรรมนกยูงจากใบตาล หรือกลุ่มโหนดศิลป์ จังหวัดสงขลา
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.65 เวลา 16.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจกลุ่มหัตถกรรมนกยูงจากใบตาล หรือกลุ่มโหนดศิลป์ จ.สงขลา โดยมีนายอินทัช หงษ์ทอง ประธานกลุ่มและสมาชิกให้การต้อนรับ ที่กลุ่มหัตถกรรมนกยูงจากใบตาง ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนคนพิการกว่าสามแสนคนที่ไม่มีงานทำ แต่มีความพร้อม มีศักยภาพในการทำงาน เพียงแค่ยังขาดโอกาสในการแสดงออกถึงศักยภาพที่มี ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการ มีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานให้คนพิการมากขึ้น กระทรวงแรงงานได้เล็งเห็นความสำคัญด้านความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคมให้กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งคนพิการเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เช่นเดียวกับคนพิการในพื้นที่ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ที่ได้รับการฟื้นฟูร่างกายและได้รับการฝึกอบรมด้านการประกอบอาชีพ สาขางานประดิษฐ์ การทำผลิตภัณฑ์นกยูงจากใบตาล โดยศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 สงขลา สังกัดสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
หลังจากนั้นได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ชื่อว่า “หัตถกรรมนกยูงจากใบตาล: โหนดศิลป์” เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เช่น ของที่ระลึกจากใบตาล พวงกุญแจจากใบตาล กรอบรูป ภาพวาดด้วยสีน้ำ ภาชนะจากใบตาล กล่องทิชชู่ เป็นต้น และยังคงพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยมากขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 10 คน สามารถสร้างรายได้เดือนละ 3,000 – 5,000 บาทต่อคน
นางเธียรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มโหนดศิลป์ยังได้รับการส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา และสำนักงานพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา จนทำให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม มีคุณภาพ และได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างอีกจำนวนมาก และได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณตามการจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการจัดหางาน และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้กลุ่มโหนดศิลป์เป็นต้นแบบของการพัฒนาและการศึกษาดูงานด้านการพัฒนาธุรกิจชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ เป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการส่งเสริมอาชีพคนพิการ สามารถดึงดูดลูกค้าที่มาเยี่ยมชมและซื้อสินค้า และยังเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับคนพิการ
“การที่คนพิการสามารถประกอบอาชีพได้หมายถึงการมีศักดิ์ศรี มีพื้นที่ยืนทั้งในครอบครัวและสังคม เกิดความสุขในชีวิต เพราะมีรายได้เลี้ยงตัวเอง ไม่เป็นภาระของคนอื่น สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่ดี มีเพื่อน ได้แลกเปลี่ยนพูดคุย แบ่งเบาความทุกข์ ปันความสุข อาชีพสำหรับคนพิการจึงเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต “ นางเธียรรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย.