“ชวน” เปิดใจปัญหาเงินกองทุนกู้ยืม กยศ. ยังมีคนไม่คืน

หมวดหมู่ : ตรัง, การศึกษา,

อ่าน : 646
ชวน หลีกภัย เปิดอาคาร 8 ชั้น วิทยาลัยบรมราชชนนี ตรัง กองทุนกู้ยืม กยศ.
“ชวน” เปิดใจปัญหาเงินกองทุนกู้ยืม กยศ. ยังมีคนไม่คืน

ตรัง- “ชวน”เปิดอาคาร 8 ชั้น วิทยาลัยบรมราชชนนี ตรัง ก่อนเปิดใจปัญหาเงินกองทุนกู้ยืม กยศ.ร่ายยาวตนเป็นผู้ก่อตั้งกองทุนจนประสบผลสำเร็จทุกวันนี้


เมื่อสายวันที่ 18 ก.ย.65 ที่วิทยาลัยบรมราชชนนี ตรัง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานทำบุญเปิดอาคารเรียน 8 ชั้น วิทยาลัยบรมราชชนนีตรัง คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชนก  หลังจากถูกทิ้งมานานกว่า 6 ปี  เริ่มสัญญาเดิม 80 ล้าน แต่สร้างไม่เสร็จ ต้องเพิ่มงบประมาณเป็น133,250,000 บาท และเสร็จในปี 2565 โดยมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผวจ.ตรัง รศ.ดร.อรัญญา เชาวลิต รองอธิการบดีสถาบันพระบรมราชนก  นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ตรัง เขต 1 พรรค ปชป.และ นายกาญจน์ ตั้งปอง หรือ สท.กาญจน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ตรัง เขต 4 พรรค ปชป. และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมจำนวนมาก


นายชวน กล่าวว่า การเปิดมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการขยายโอกาสในเรื่องการศึกษา ซึ่งมองเห็นว่าหากเปิดสถานศึกษาแต่ไม่มีเงินทุนในการเล่าเรียนก็เป็นการเสียโอกาส จึงเปิดโครงการกู้เงินเพื่อการศึกษา กยศ.ขึ้นมา ตั้งงบประมาณเมื่อปี 2539 จำนวน 4,000 ล้านบาท ซึ่งอนุมัติ ครม.ปี 2538  มาในยุคของนายบรรหาร ศิลป์อาชา มีการตัดงบประมาณจาก 4,000 ล้านบาท เหลือ 3,000 ล้านบาท การกู้เงินได้กระจายไปทั่วประเทศแต่ไม่มากนัก แต่โครงการดังกล่าวโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จาก 3,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านบาท จากเด็กที่ได้เรียน 7-8 หมื่นคน เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน ซึ่งเรียกว่าเป็นการลดช่องว่างในเรื่องของการศึกษา


นายชวน กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าการกู้เงินในช่วงแรก ๆ เด็กที่กู้ส่วนใหญ่มีการคืนเงินกู้ แต่มาช่วงหลังที่มหาวิทยาลัยเอกชนนำเงินมาให้เด็กกู้ยืม แล้วยุยงไม่ให้เด็กคืนเงินที่กู้มาเรียน ซึ่งนั่นหมายความว่ามหาวิทยาลัยเอกชนไปหลอกเด็กว่าให้เรียนฟรีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด   ซึ่งจากการดูตัวเลขแล้วมหาวิทยาลัยของรัฐที่กู้แล้วไม่คืนมีสัดส่วนน้อยมาก แต่ของเอกชนมีสัดส่วนที่เยอะมาก 60%-70%  จึงพยายามรณรงค์ว่าขอให้คืนเงินจะได้มาหมุนเวียน ซึ่งตอนนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณให้แล้ว เพราะเดิมที่ให้งบประมาณไว้แล้ว 6 แสนกว่าล้านหมดแล้วสามารถเอามาหมุนเวียนได้ ให้รุ่นน้องรุ่นหลานให้เรียนต่อได้


“ถึงแม้ว่าเงินสำคัญก็จริง แต่ไม่สำคัญเท่ากับสร้างคนให้มีความรับผิดชอบ เพราะปัญหาของประเทศไทยที่แท้จริงคือการสำนึกรับผิดชอบ ความมีวัย ความรับผิดชอบเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด กู้แล้วไม่คืน เราได้คนมีความรู้ แต่เริ่มต้นด้วยชีวิตโกง ไปโกงเงินของหลวง ส่วนคนที่คืนแล้วต้องชื่นชม ส่วนคนที่คืนไม่ได้เพราะไม่มีงานทำอันนี้ต้องเห็นใจเขา เขาต้องพยายามหาทางช่วยเหลือ ส่วนคนที่มีเงินแล้วไม่คืนนี่แหละคือปัญหา ต้องเอาเงินคืนจากคนเหล่านี้ให้หมดเพื่อให้รุ่นน้องต่อๆไปได้เรียนต่อ” นายชวนกล่าว


นายชวน กล่าวว่า ถ้าถามว่าตนคิดอย่างไรกับการไม่คิดดอกเบี้ยและการดำเนินการ กยศ.นั้น ตนนั่งประชุมเป็นประธานอยู่ มีคน 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคิดดอกเบี้ย  รัฐบาลขอดอกเบี้ยคิดร้อยละ 2  แต่ทางกรรมาธิการให้ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.25 สตางค์ มติที่ประชุมยกให้ 0.25  แต่พอมาเข้าที่ประชุมสภากลุ่มที่ไม่เอาดอกเบี้ยชนะ ก็เลยต้องถามในมติว่ามีกี่มติแล้วถอนเหลือมติเดียว เหลือมติว่าไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งนั้นหมายความว่ามีปัญหากับ กยศ.ต่อไป เท่ากับว่าไม่มีรายได้ไว้บริหารเลย และไม่คิดเงินเพิ่มเบี้ยปรับ การไม่คิดทำให้คนที่ผิดนัดไม่ต้องเสียค่าปรับแทนที่จะเสียตามกำหนดเวลาก็ยืดเยื้อที่จะไม่จ่าย เงินก็เข้ามาหมุนไม่ทัน 


“อย่างไรก็ตามทุกคนหวังดีต่อประชาชน แต่ความหวังดีนั้นบางเรื่องนั้นต้องคิดถึงความอยู่รอดของประเทศด้วย ว่าจะทำให้ส่วนรวมของประเทศอยู่รอดได้อย่างไร ต้องปลูกฝังคนให้รู้จักสำนึกรับผิดชอบ  ร้อยละ 0.25 สตางค์ทางฝ่ายที่คิดว่าคิดดอกดูว่าไม่มาก แต่มันเป็นการสร้างวินัยให้กับพี่น้องประชาชน  แต่มตินี้อย่างไรก็ตามกฏหมายนี้ยังไม่ออกมายังไม่ผ่านวุฒิสภา อย่างไรก็ต้องรอดูวุฒิสภาว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ถ้าทางวุฒิสภามีความเห็นไม่แก้ไขก็ผ่านไปได้เลยไม่คิดดอกเบี้ย  แต่ถ้าแก้ไขก็ต้องย้อนกลับมาอีกที ต้องถามที่ประชุมว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็จบ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องตั้งกรรมาธิการ 2 ฝ่ายเข้ามาหารือ ซึ่งเรื่องยังไม่ยุติในขณะนี้” นายชวนกล่าวย้ำ.