กรุงศรี มองตลาดลงทุนทั่วโลกช่วงไตรมาส 4/2567 ยังคงผันผวน แนะรอปัจจัยฝั่งสหรัฐฯ พร้อมตั้งรับดอกเบี้ยขาลง
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 25 ก.ย. 2567, 16:36 น. อ่าน : 288กรุงเทพฯ - เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) อัปเดตทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ในงานสัมมนาพิเศษจัดขึ้นสำหรับลูกค้ากรุงศรี ไพรเวท แบงก์กิ้ง และกรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ ที่จังหวัดภูเก็ต โดยสรุปว่าสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกในช่วงที่เหลือของปียังคงผันผวนต่อเนื่อง อันเป็นผลจากทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง และการรอความชัดเจนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม FED มีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในปีนี้ และนับเป็นการเริ่มต้นวงจรดอกเบี้ยขาลง โดยมองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศยังคงน่าสนใจ ส่วนการลงทุนในหุ้นเน้นกลุ่มปลอดภัยและได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของ FED ซึ่งได้แก่ กลุ่มหุ้นโลกที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้มั่นคง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และการแพทย์
นางสาวกมลพันธ์ เฉลิมสกุลรัตน์ รองผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต
งานสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของกรุงศรีกรุ๊ป รวมถึงวิทยากรจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มาร่วมเผยมุมมองภาคการท่องเที่ยวของภูเก็ต และกลยุทธ์การลงทุนเพื่อรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเริ่มจาก นางสาวกมลพันธ์ เฉลิมสกุลรัตน์ รองผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต ที่กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ต รวมถึงโอกาสทางธุรกิจในภูเก็ต โดยสรุปว่า ช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมายังภูเก็ตกว่า 7.6 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศแล้วกว่า 284,000ล้านบาท โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70% และคนไทย 30% ทั้งนี้ ได้คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีไว้ที่ 14 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 400,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างให้ภูเก็ตกลายเป็น Smart City ศูนย์กลางของเรือสำราญ รวมถึงคอนเสิร์ต หรือการจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ รวมไปถึงผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเขตปกครองตัวเองพิเศษเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายภายใต้แนวทางการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ต เน้นกลุ่มคนที่แสวงหาความเป็นส่วนตัว มองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ใส่ใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมาในรูปแบบของครอบครัวใหญ่และมีช่วงเวลาการเดินทางท่องเที่ยวที่ยาวนาน รวมถึงมีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักยังรวมถึงนักท่องเที่ยวในกลุ่ม Sustainability ซึ่งสนใจเข้าพักในโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ นางสาวกมลพันธ์ ยังได้แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคตและน่าจับตามอง โดยธุรกิจแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในภูเก็ตโดยเฉพาะ House Residence ที่มีจำนวนห้องเพิ่มขึ้น ธุรกิจที่สอง คือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่มีอัตราการเติบโตสูง สามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ โดยในอนาคตจะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มาเปิดสาขาที่ภูเก็ต ส่วนธุรกิจสุดท้ายที่น่าจับตามอง คือ ธุรกิจที่ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิเช่น การขยายถนน การเพิ่มสนามบินนานาชาติ การสร้างระบบรถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว
แนะ 4 ปัจจัยการลงทุนที่ควรจับตามองในช่วงไตรมาส 4/2567
นายวิรัตน์ วิทยศรีธาดา, CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์และที่ปรึกษาการลงทุน และหัวหน้าทีม Krungsri Investment Intelligence ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวนต่อเนื่อง นายวิรัตน์ วิทยศรีธาดา, CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์และที่ปรึกษาการลงทุน และหัวหน้าทีม Krungsri Investment Intelligence ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้สรุปปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปีนี้ 4 ประเด็นด้วยกันคือ
1. นโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก โดยในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการดำเนินดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 0.25% ไปสู่ 5.5% ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เห็นการหมุนเงินจากตลาดหุ้นเข้าสู่ตลาดเงิน ตราสารหนี้ ขณะที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง โดยคาดว่าในการประชุมเดือนกันยายนนี้ FED จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และจะมีการปรับต่อเนื่องจาก 5% ในสิ้นปี 2567 ลดลงเหลือ 4% และ 3% ในช่วงปี 2568 – 2569 อ้างอิงจากการประชุมในช่วงเดือนมิถุนายน การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้นักลงทุนต้องออกแบบวิธีการลงทุนให้สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของ FED โดยสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามเพิ่มเติม คือ การย้ายเงินออกจากตลาดเงิน หลังจาก FED ปรับลดดอกเบี้ย
2. ทิศทางเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การดำเนินนโยบายการเงินของ FED ที่ขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดแรงงานมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 30% แม้ว่ายังอยู่ในระดับต่ำ แต่เป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สำหรับมุมมองของการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะยังคงเป็น Soft Landing ได้ และด้วยทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2567 ยังคงเติบโต ประกอบกับการที่ตลาดแรงงานเริ่มชะลอตัวลงชัดเจน จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ FED ต้องมีการปรับลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินเฟ้อชะลอตัวลงมาอย่างต่อเนื่องจากการคลี่คลายของห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ภาคบริการที่คิดเป็นประมาณ 70 – 80% ของขนาดเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายผ่านยอดค้าปลีกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ในส่วนของหนี้สินภาคครัวเรือน และ ความสามารถในการชำระหนี้ ยังคงไม่น่ากังวล แม้ว่าหนี้บัตรเครดิตจะดูมีความกังวลอยู่บ้าง แต่คิดเป็นเพียง 6.4% ของหนี้ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ยังคงเน้นย้ำเรื่องของการติดตามตัวเลขเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
3. ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ว่าผลการเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน แต่หากโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง คาดว่าอาจก่อให้เกิดประเด็นเรื่องการตั้งกำแพงภาษี คล้ายกับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ขณะที่นโยบายของกมลา แฮร์รีส พยายามจะปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% ซึ่งไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรเชื่อว่าต่างมีนัยยะหรือผลกระทบที่แตกต่างทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ทั้งนี้ จากสถิติในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ตลาดหุ้นมักมีความผันผวน แต่หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งตลาดหุ้น S&P500 มักจะปรับตัวขึ้น หรือเกิด Election Rally
4. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจจีนยังไม่สามารถที่จะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ทำให้เริ่มมีการปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงสู่ระดับ 4.8% นอกจากนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คิดเป็น 20% ของ GDP จีน ยังไม่เห็นการฟื้นตัว การลงทุนในจีนยังคงต้องรอการฟื้นตัวของราคาบ้าน และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศผ่านการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งมองว่าตลาด Emerging Markets (ไม่รวมจีน) มีความน่าสนใจมากกว่า โดยมีการเติบโตอยู่ในระดับสูง Valuation ไม่แพง และได้ประโยชน์จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า และการลดดอกเบี้ยของ FED นอกจากนี้ การลงทุนในเวียดนามยังคงน่าสนใจด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ สำหรับธีมดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับลงในอนาคต แนะนำลงทุนในกองทุน KFCSINCOM ผ่านการลงทุน Master Fund PIMCO GIS Income Fund ที่กระจายการลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลกและมีผลการดำเนินงานที่ดีสม่ำเสมอ ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งเงินบาทที่เป็นกอง KFCSINCOM ป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน หรือ KFSINCFX ป้องกันความเสี่ยงตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน หรือจะลงทุนตรงในลักษณะ Direct Offshore Fund เป็นเงิน USD สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว 3-5 ปี ยังคงแนะนำ Flagship funds 5 กองทุนได้แก่ KFCSINCOM, KFGBRAND, KFHTECH, KFESG และ UGQG นอกจากนี้ กรุงศรี ยังมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ เงินฝากประจำ FCD, Offshore Fixed income ที่ลงทุนหุ้นกู้ในสกุลเงินดอลลาร์ กองทุน Private Asset กองทุน Private Credit Offshore mutual funds และ Structure Note เป็นต้น
ชี้ตราสารหนี้น่าลงทุน ตั้งรับช่วงดอกเบี้ยขาลง
นายเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์, CFA ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนทางเลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
ด้าน นายเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์, CFA ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนทางเลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด เผยภาพการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วง 1–2 ปีข้างหน้า หลังจาก FED มีการปรับลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ประเด็น FED ลดดอกเบี้ยตั้งแต่ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อช่วงวันที่ 11 กรกฎาคม อันดับหนึ่ง คือ การปรับตัวของตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้ประโยชน์ชัดเจนจากดอกเบี้ยที่ปรับลดลง โดยผลตอบแทนที่เกิดขึ้นมาจาก 2 ส่วน คือ ดอกเบี้ย และ Capital Gain ซึ่งเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนยังคงแนะนำตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีอายุยาวกว่าตราสารหนี้ไทย และมีทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย แม้ว่าตราสารหนี้จะปรับตัวขึ้นมากแล้ว แต่หากพิจารณาจากทิศทางดอกเบี้ยที่น่าจะปรับลงในช่วง 2 ปีข้างหน้า นับว่ายังอยู่ในวงจรที่ค่อนข้างดีสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ อันดับถัดมา สิ่งที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของดอกเบี้ย คือ ค่าเงิน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นผลจากดอลลาร์สหรัฐที่มีการอ่อนค่าลง จากแนวโน้มดอกเบี้ยมีการปรับลดลง และการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐยังส่งผลต่อราคาทองด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่ปรับตัวได้ค่อนข้างโดดเด่น คือ กลุ่ม Global REIT ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ให้เงินปันผลอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง สินทรัพย์กลุ่มนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น และคาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี เช่นกอง KFGPROP, KFINFRA
ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยปรับตัวลดลง ซึ่งหากเศรษฐกิจไม่เกิด Recession คาดว่าตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดี โดยเฉพาะกลุ่ม REIT กลุ่มโรงไฟฟ้าและสาธารณูปโภค และกลุ่มสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะ Recession หลังจากการลดดอกเบี้ย คาดว่าตลาดหุ้นน่าจะลดลงมากในช่วงแรกแต่ยังได้รับอานิสงส์จากการลดอัตราดอกเบี้ยของ FED เข้ามาช่วย โดยเฉพาะในรอบนี้ FED มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยได้มาก ทำให้ตลาดหุ้นมีโอกาสกลับมาให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีได้ในช่วง 2 ปีหลังจาก FED เริ่มลดดอกเบี้ย
ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ค่อนข้างผันผวนในช่วงที่ผ่านมา มองว่าในระยะสั้นตลาดยังคงผันผวนควบคู่ไปกับค่าเงินเยน ส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ลดลงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของทาง BOJ ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น และกดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มตลาด Emerging Markets ที่มักได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ในรอบนี้ยังไม่ชัดเจนนัก อาจเป็นผลมาจากจีนที่มีน้ำหนักค่อนข้างสูงใน Emerging Markets นอกจากนี้ยังมีเกาหลี และไต้หวันที่ได้รับผลกระทบจากการเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีด้วย
ทั้งนี้ นายเกียรติศักดิ์ ได้แนะนำแนวทางการปรับพอร์ตให้ครอบคลุมสินทรัพย์หลายประเภท กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาลงอย่างตราสารหนี้ต่างประเทศ ส่วนทางด้านหุ้นจะเป็นกลุ่ม Global REIT, Global Infrastructure อย่าง KFGPROP และ KFINFRA ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ช่วยให้พอร์ตการลงทุนมีความสมดุลมากขึ้น คือ KFGBRAND ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดและเศรษฐกิจผันผวน รวมถึงหุ้นกลุ่มการแพทย์ ที่มีปัจจัยเฉพาะด้วยการเป็นหุ้นกลุ่มปลอดภัย และปัจจัยหนุนเฉพาะตัวจากนวัตกรรมยาลดความอ้วน และยาลดน้ำหนัก อาทิเช่น KFHHCARE
เปิดมุมมองตลาดหุ้นไทย
สำหรับตลาดหุ้นไทย นายเกียรติศักดิ์ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นด้วยปัจจัยหนุนจากเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างประเทศ และกองทุนวายุภักษ์ที่คาดว่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้ามาช่วยหนุนการปรับตัวของตลาดหุ้นไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ดีขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยว ส่วนด้านผลประกอบการหากไม่รวมกลุ่มปิโตรเคมีและน้ำมัน มองว่าภาพรวมของตลาดปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม Valuation ยังคงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ย แนะนำลงทุนผ่านกองทุน KFDYNAMIC ที่มีการบริหารกองทุนแบบยืดหยุ่นตามสถานการณ์ และเน้นการลงทุนในหุ้น 20-30 ตัว
ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านช่องทาง YouTube : Krungsri Simple หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ KRUNGSRI PRIVATE BANKING หรือ KRUNGSRI EXCLUSIVE โทร 02-296-5566 LINE: @KrungsriExclusive.