“กรุงศรี” มอง “ค่าเงินบาท” ยังแข็งในสัปดาห์นี้
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 25 พ.ค. 2563, 21:20 น. อ่าน : 1,685 “กรุงศรี” คาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.80-32.20
เคลื่อนไหวในระดับแข็งค่าเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว และจับตาปัญหาขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน
กดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ กรุงศรี
มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.80-32.20 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.89
ต่อดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps
สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 0.50% ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย 1.1 หมื่นล้านบาท และ 8.2 พันล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมองว่า
ตลาดเริ่มเปิดรับความเสี่ยงหลังมีความหวังมากขึ้นจากข่าวผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ให้ผลน่าพอใจในขั้นต้น
รวมถึงการคาดการณ์ว่าอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามข้อขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน
จะกลับมารุมเร้าบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง
ขณะที่ตลาดจะติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในฮ่องกงซึ่งอาจนำไปสู่ความตึงเครียดรอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ
กับจีน
หลังจากที่จีนยื่นร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงและมีผู้ออกมาประท้วงในฮ่องกงจำนวนมากช่วงสุดสัปดาห์
โดยก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์เตือนว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้จีนอย่างแข็งกร้าว
สถานการณ์เช่นนี้รวมถึงการอ่อนค่าของเงินหยวนอาจกดดันสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งเผชิญกับความเสียหายอย่างรุนแรงจาก
สำหรับปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563
มีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่คาด
ส่วนเงินบาทกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค
ซึ่งหากดำเนินต่อไปจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 2.12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าหดตัวถึง 17.13% ทำให้เกินดุลการค้า 2.46 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์ประเมินการส่งออกในไตรมาส 2
และช่วงครึ่งปีแรกจะติดลบ อนึ่งหากไม่นับรวมทองคำ การส่งออกเดือนเมษายนจะหดตัว 10.31% ทั้งนี้เราคาดว่าวัฎจักรการปรับลดดอกเบี้ยของ กนง.ได้สิ้นสุดลงแล้ว
แต่ทางการจะใช้เครื่องมือที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจและดูแลระบบการเงินต่อไป.