ทรู คอร์ปอเรชั่น นำร่องแผน Responsible AI มุ่งใช้ด้วยความรับผิดชอบเป็นรายแรกในไทย
หมวดหมู่ : ไลฟ์สไตล์-บันเทิง, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 24 ก.ย. 2567, 15:34 น. อ่าน : 198บรรยายภาพ : นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นายจูเลียน กอร์แมน (ซ้าย) หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สมาคมจีเอสเอ็ม ร่วมกันเปิดตัวแผนพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI Maturity Roadmap) เพื่อการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมและยั่งยืน
กรุงเทพฯ - เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ทรู คอร์ปอเรชั่น ลุยนำแผนการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible AI (RAI) Maturity Roadmap ของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) สู่การดำเนินงานเป็นองค์กรแรกในประเทศไทย โดยแผนดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และการประเมินผลของแผนการดำเนินงานนี้สนับสนุนมาตรฐานระดับสูงสำหรับการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างปลอดภัย เท่าเทียม และยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับโลก
จากการประเมินโดย McKinsey พบว่าโอกาสทางธุรกิจจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในภาคโทรคมนาคมอาจสูงถึง 680,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 22.7 ล้านล้านบาท) ในช่วง 15-20 ปีข้างหน้า สมาคมจีเอสเอ็มจึงร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคม 19 แห่ง รวมถึงทรู คอร์ปอเรชั่น ในการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ นับเป็นครั้งแรกที่ทุกภาคส่วนมุ่งมั่นใช้แนวทางร่วมกันในด้านปัญญาประดิษฐ์
แผนพัฒนานี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมสามารถประเมินสถานะปัจจุบันในการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบ เทียบกับเป้าหมายที่ต้องการ จากนั้นจึงให้แนวทางที่ชัดเจนและเครื่องมือวัดผลเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น พร้อมทั้งรับรองแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมสำหรับการใช้เทคโนโลยีอย่างรับผิดชอบ
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัญญาประดิษฐ์จะมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชีวิตและเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชีย โดย ทรู คอร์ปอเรชั่นมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพนี้อย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม การนำแผนพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible AI Roadmap ของสมาคมจีเอสเอ็มมาใช้ แสดงถึงความมุ่งมั่นของเราในการยึดมั่นมาตรฐานสากลระดับสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์จะเกิดขึ้นอย่างปลอดภัยและอยู่บนความเท่าเทียม”
การพัฒนาแผนนี้อยู่ภายใต้ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำทั่วโลก ในการรับรองว่าการบุกเบิกและบูรณาการปัญญาประดิษฐ์จะดำเนินการอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ
จากการปรึกษากับภาคอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง สมาคมจีเอสเอ็มได้นำแนวทางต่างๆ มาผสมผสานกับกฎระเบียบ คำแนะนำ และมาตรฐานระดับโลกที่มีอยู่จากองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และข้อเสนอแนะด้านจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) เพื่อสร้างแผนพัฒนาสำหรับทั้งอุตสาหกรรมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่นใช้ปัญญาประดิษฐ์สู่การดำเนินงานของเรา เพื่อปรับปรุงทั้งประสบการณ์ของลูกค้าและประสิทธิภาพของธุรกิจ ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของเราในด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล แผนพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible AI Roadmap จะช่วยให้ทรู คอร์ปอเรชั่นมั่นใจในความพร้อมสำหรับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่เทคโนโลยีสร้างสรรค์”
ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีแห่งแรกในประเทศไทยที่นำแผนพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบมาใช้ สำหรับในระดับโลก มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมให้บริการเครือข่ายมือถือ 19 รายที่ได้ให้คำมั่นในการใช้แผนพัฒนานี้เป็นวิธีในการติดตาม ดูแล และปรับปรุงการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบ
หลักการแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best-practice principles)
Responsible AI หรือ RAI คือแผนพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบมีพื้นฐาน 5 หลักการ ได้แก่ 1.วิสัยทัศน์ ค่านิยม และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กร 2.โมเดลการดำเนินงานและวิธีรักษาธรรมาภิบาลด้านปัญญาประดิษฐ์ในทุกการดำเนินงาน 3.การควบคุมทางเทคนิคตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ 4.การทำงานร่วมกับระบบนิเวศของบุคคลที่สาม และ 5.กลยุทธ์การจัดการการเปลี่ยนแปลงและการสื่อสาร
สำหรับแต่ละหลักการ แผนพัฒนาจะแนะนำองค์กรให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบตามระดับความพร้อมขององค์กร
นอกจากนี้ยังอยู่บนพื้นฐานของหลักการแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่มีมายาวนาน ซึ่งรวมถึงความเป็นธรรม การกำกับดูแลโดยมนุษย์ ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ความปลอดภัยและความทนทาน ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายแมตส์ แกรนริด ผู้อำนวยการใหญ่ สมาคมจีเอสเอ็ม กล่าวว่า “ศักยภาพของของปัญญาประดิษฐ์เป็นที่ทราบกันดีแต่การบูรณาการในการทำงานและชีวิตของเราต้องทำอย่างรับผิดชอบและโปร่งใสเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและความยั่งยืนอย่างแท้จริง แผนพัฒนานี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือสามารถนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ โดยประยุกต์ใช้งานอย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม”
นายจูเลียน กอร์แมน หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สมาคมจีเอสเอ็ม กล่าวว่า “การตัดสินใจของทรู คอร์ปอเรชั่นในการให้ความสำคัญกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างรับผิดชอบ เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมและความยั่งยืน แผนพัฒนานี้จะให้เครื่องมือและแนวทางที่จำเป็นแก่ทรูในการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็รับรองว่าการใช้งานสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรม”
เกี่ยวกับทรู คอร์ปอเรชั่น
ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ชั้นนำอันดับ 1 ของไทย มุ่งมั่นสร้างศักยภาพเพื่อทุกคนและธุรกิจด้วยโซลูชันการเชื่อมต่อที่ช่วยพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน บริการด้านเสียงและดาต้าชั้นนำระดับโลกของทรู ทรูเปิดประตูสู่ระบบนิเวศด้านไลฟ์สไตล์อย่างครบวงจร ตั้งแต่ความบันเทิงระดับโลก สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับสมาชิก ไปจนถึงการเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ ด้วยนวัตกรรมที่ผสานพลังของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทรูมีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับสุขภาพ และเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม นี่คือเหตุผลที่ลูกค้ามากกว่า 50 ล้านคนไว้วางใจให้ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ให้บริการเชื่อมต่อและเปิดโอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือระหว่างเดินทาง
เกี่ยวกับสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA)
สมาคมจีเอสเอ็มเป็นองค์กรระดับโลกที่รวมระบบนิเวศของโทรคมนาคมเพื่อค้นพบ พัฒนา และส่งมอบนวัตกรรมที่เป็นรากฐานสำหรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยมีวิสัยทัศน์มุ่งสู่การปลดล็อกพลังแห่งการเชื่อมต่ออย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้คน อุตสาหกรรม และสังคมเจริญรุ่งเรือง ด้วยการเป็นตัวแทนของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือและองค์กรต่าง ๆ ในระบบนิเวศของโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สมาคมจีเอสเอ็มส่งมอบผลงานให้แก่สมาชิกใน 3 หลักการ ได้แก่ การเชื่อมต่อเพื่อความดี (Connectivity for Good) บริการและโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรม (Industry Services and Solutions) และการเข้าถึง (Outreach) กิจกรรมนี้รวมถึงการผลักดันนโยบาย การจัดการกับความท้าทายที่สำคัญที่สุดของสังคมในปัจจุบัน การรองรับเทคโนโลยีและความสามารถในการทำงานร่วมกันที่ทำให้โทรศัพท์มือถือทำงานได้ และการจัดหาแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อรวมระบบนิเวศของโทรศัพท์มือถือในงาน MWC และ M360 Series