ม.อ.ขับเคลื่อนงานวิจัยนำพืชกระท่อมพัฒนาเป็นเภสัชตำรับ ใช้บำบัดผู้เสพยาเสพติด
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 26 มี.ค. 2564, 17:01 น. อ่าน : 1,338 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดย คณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ ดำเนินงานวิจัย
การนำพืชกระท่อมพัฒนาเป็นเภสัชตำรับ เพื่อนำไปใช้บำบัดผู้เสพยาเสพติด
พร้อมทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของเภสัชตำรับที่พัฒนา ภายใต้การสนับสนุนจาก
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สกว.)
ผศ.ดร.สมชาย
ศรีวิริยะจันทร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (เภสัชวิทยา)
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า พืชกระท่อมมีสารสำคัญ ได้แก่
ไมทราไจนีน (Mitragynine) และ 7-ไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine)
ที่มีฤทธิ์ระงับปวด รักษาอาการท้องเสีย ลดน้ำหนัก ต้านการอักเสบ
ต้านอนุมูลอิสระ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ต้านอาการซึมเศร้า คลายกล้ามเนื้อลาย
ยับยั้งกลุ่มอาการถอนยาจากเอทานอล ลดอาการวิตกกังวลจากกลุ่มอาการถอนยากลุ่มสารฝิ่น
สำหรับอาการถอนยาที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้พืชกระท่อมจะไม่แสดงอาการก้าวร้าว
ต่างจากกลุ่มที่ติดสารเสพติดประเภทอื่น เช่น ยาบ้า ไอซ์ เป็นต้น
ที่มักจะแสดงอาการก้าวร้าวออกมาอย่างให้เห็น
ในตำรายาไทยใบกระท่อม
ระบุสรรพคุณใช้ระงับอาการปวดท้อง แก้บิด แก้ท้องเสีย
ระงับอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย การใช้พืชกระท่อม ณ ปัจจุบันนี้
มีการใช้โดยการเคี้ยวใบสด นำใบสดหรือใบแห้งต้มน้ำดื่ม เพื่อให้ทำงานได้ทนนาน
และปัจจุบันในหลายๆ ประเทศได้นำพืชกระท่อมไปใช้ประโยชน์เพื่อทดแทนสารเสพติด เช่น
มอร์ฟีน เฮโรอีน ไอซ์ และยาบ้า
เพื่อลดอาการถอนที่เกิดจากการหยุดเสพสารเสพติดดังกล่าว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดยคณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ กำลังดำเนินงานวิจัยเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ปี
2561 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร
(องค์การมหาชน) (สวก.)
โดยการนำพืชกระท่อมมาพัฒนาเป็นเภสัชตำรับเพื่อนำไปใช้บำบัดผู้เสพยาเสพติดและทดสอบประสิทธิภาพ
รวมถึงความปลอดภัยของเภสัชตำรับที่พัฒนา
ผศ.ดร.สมชาย
กล่าวอีกว่า
นอกจากนี้ทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ยังได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสติด
(ป.ป.ส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการ
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ทำการศึกษาความสัมพันธ์ของระดับ mitragynine
ในเลือดกับผลกระทบต่อสมรรถภาพสมองของผู้ใช้กระท่อมเป็นประจำ
ในพื้นที่ตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยศึกษาในคนที่ไม่เคยใช้พืชกระท่อมจำนวน 99 ราย และผู้ใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชุมชนดั้งเดิมประจำเป็นเวลานานกว่า
1 ปี จำนวน 192 ราย พบว่า การใช้พืชกระท่อมแบบวิถีชุมชนดั้งเดิม คือ
การเคี้ยวใบสดหรือต้ม/ชงใบพืชกระท่อมแห้งเป็นประจำไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพด้านความคิดและการรับรู้
การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและการทำงานของสมอง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์เชิงนโยบายในการปลดพืชกระท่อมออกจาก
พรบ.ยาเสพติดให้โทษ
อย่างไรก็ตาม
การใช้พืชกระท่อมมีทั้งคุณและโทษ หากใช้ในปริมาณที่พอดี จะส่งผลดีต่อร่างกาย
แต่หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นเดียวกับยาหรือสารอื่นๆ
ทั้งนี้ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการเรื่องพืชกระท่อมอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างแนวทางการทำวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ชุมชนจนถึงระดับอุตสาหกรรม โดยมีทีมวิจัยที่ร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป.
ผศ.ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (เภสัชวิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์