ม.อ.ผลิตชุดทดสอบธาตุอาหารในน้ำ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต
หมวดหมู่ : ภูเก็ต, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 25 ก.พ. 2564, 13:37 น. อ่าน : 1,535 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตภูเก็ต โดยคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ผลิตชุดทดสอบธาตุอาหารในน้ำ
พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน
สำหรับเฝ้าระวังปริมาณธาตุฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำผิวดินและน้ำทะเล
หวังช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
และรักษาทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัดภูเก็ตให้มีความยั่งยืนต่อไป
จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดในด้านการท่องเที่ยว
ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ไปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนที่มากขึ้น
และก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาคุณภาพน้ำผิวดิน
ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมและน้ำทะเลที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำผิวดินเหล่านี้ยังประสบปัญหาคุณภาพน้ำทะเล
และเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีและสาหร่ายขนาดใหญ่สะพรั่ง (Algae
bloom) หรือ ปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
โดยคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ผลิตชุดทดสอบฟอสเฟตไนเตรท และไนไตรท์ในน้ำ
ช่วยแก้ปัญหาเฝ้าระวังปริมาณธาตุฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำผิวดินและน้ำทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
เพื่อการใช้ประโยชน์ในมิติเชิงชุมชน สังคม จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้
และได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนในการเฝ้าระวังปริมาณธาตุฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำผิวดินและน้ำทะเล
โดยมี นางวิภา จันทร์ทอง ปลัดเทศบาลเมืองป่าตอง
ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.วีระพงค์เกิดสิน คณบดีคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กล่าวต้อนรับ รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ ณ ริมหาดป่าตอง บริเวณทางออกของคลองปากบาง ต.ป่าตอง
อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้
นำโดย รศ.ดร.อารีย์ ชูดำ คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต หัวหน้าโครงการ พร้อมทีมวิจัย
โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลงานวิจัยให้แก่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และเป็นกำลังสำคัญที่จะสามารถเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
และนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนรุ่นถัดไป
เพื่อช่วยกันเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าวในอนาคต
รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นบุคลากรที่ต้องรับผิดชอบปัญหาดังกล่าวโดยตรง
เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ให้ร่วมด้วยช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ จะมีการจัดกิจกรรมอีกครั้ง ในวันที่ 3 มีนาคม 2564 ณ ริมคลองบางใหญ่
(บริเวณสะพานกอจ๊าน) อ.เมือง จ.ภูเก็ต
นางสมจิต
หลิมพัฒนวงศ์ รองปลัดเทศบาลเมืองป่าตอง ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง
กล่าวว่า กิจกรรมการประยุกต์ใช้ชุดทดสอบฟอสเฟต ไนเตรท และไนไตรท์ในน้ำ
สำหรับเฝ้าระวังปริมาณธาตุฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำผิวดินและน้ำทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
เป็นโครงการที่ดี ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของผลงานวิจัย
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่อย่างแท้จริง
ผู้เข้าร่วมจะได้นำความรู้
และประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ทั้งต่อตนเองและชุมชนที่อยู่อาศัย
ตลอดจนช่วยให้สังคมเกิดการตระหนักและร่วมกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติของป่าตองต่อไป
ด้าน รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ด้านคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำทะเลในจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2563 และการระบาดระลอกใหม่ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทำให้กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตหยุดชะงักไป ธรรมชาติจึงได้ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการฟื้นตัวเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ สถานการณ์ด้านคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำทะเลของจังหวัดจะกลับเข้าสู่สถานการณ์เช่นเดิม หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการวางแผนการจัดการให้เหมาะสม ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดกิจกรรม “การประยุกต์ใช้ชุดทดสอบฟอสเฟต ไนเตรท และไนไตรท์ในน้ำสำหรับเฝ้าระวังปริมาณธาตุฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำผิวดินและน้ำทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต” เพื่อการประยุกต์ใช้ชุดทดสอบฟอสเฟต ไนเตรท และไนไตรท์ในน้ำ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นการนำชุดทดสอบที่ได้จากการศึกษาวิจัยมาใช้ในการวิเคราะห์หาปริมาณสารฟอสเฟต ไนเตรท และไนไตรท์ในน้ำผิวดินและน้ำทะเลสำหรับเฝ้าระวังปริมาณธาตุฟอสฟอรัสและไนโตรเจนในน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีนักศึกษา ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมทดสอบน้ำทะเลบริเวณอ่าวป่าตอง และน้ำจากคลองปากบาง.