วุ่นแล้วฯ บริษัทสัมปทานรังนกฯ ขอเลื่อนจ่าย งวดแรก 21 ล้าน -กลุ่มบงการดิ้นขอตัดตอน
หมวดหมู่ : การเมือง, พัทลุง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 29 ต.ค. 2564, 13:11 น. อ่าน : 983พัทลุง- การขโมยรังนกอีแอ่น จ.พัทลุง เริ่มส่งผลกระทบต่อสัมปทานแล้ว บริษ้ทสยามเนสท์ 2022 จำกัด ผู้รับสัมปทาน ยื่นขอเลื่อนการจ่ายเงินงวดที่ 1 ปี 2564 จำนวน 21,333,333 บาท จากวันที่ 31 ต.ค.2564 ไปเป็นวันที่ 31 ส.ค.2565 เป็นเวลา 10 เดือน สาเหตุจากลักรังนกถูกขโมยเก็บไม่ได้ตามเป้าหมายจึงไม่มีเงินมาจ่าย ด้านกลุ่มบงการขบวนการขโมยรังนกฯ ยังคงดื้อประสานงานตัดตอนไม่ให้สาวถึงกลุ่มตนเอง ขอตัดตอนแค่กลุ่มส่ังการเป็นข้าราชการ
คดีขบวนการขโมยรังนกอีแอ่น จ.พัทลุง ซึ่งกลายเป็นคดีมหากาพย์ที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีผู้ร่วมขบวการจากหลายกลุ่มทั้งนักการเมือง นักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน ผู้นำท้องถิ่น อส. และพลเรือน ซึ่ง พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.(สส.) และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. เข้ามาคุมคดี โดยมี พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ผบก.กองอุทธรณ์ (อธ.) เป็นหัวหน้าชุดสอบสวน ประสานงานกับ พล.ต.ต.ตานิตย์ รามดิษฐ์ ผบก.ภ.จว.พัทลุง เร่งคลี่คลายคดีรังนกจนสามารถออกหมายจับผู็ต้องหาได้ 17 คน จับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 16 ราย และ กำลังหลบหนี 1 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ ลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนทางลับประสานกับการทำงานของตำรวจ และตำรวจได้ส่งสำนวนดำเนินคดีกับผู้ใหญ่บ้านและ อส.ให้ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว จำนวน 2 สำนวน ตามข่าวที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น
ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องคดี ทีมข่าวไทยแหลมทองที่ทำงานร่วมกับผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจหนังสือพิมพ์ส่วนกลางรานงานมาว่า จากการที่คณะกรรมาธิการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่สำรวจเกาะรังนกและร่วมประชุนกันที่ จ.พัทลุง มีความเห็นตรงกันว่าการขโมยรังนกและการทำลายพันธุ์นกนั้น น่าจะมี จนท.รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงขอให้ทางจังหวัดฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมบุคคลที่เกี่ยวข้อง 5 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย ผวจ.พัทลุง , ผบก.ภ.จว.พัทลุง, นายก อบจ.พัทลุง, ปลัดจังหวัดพัทลุง และตัวแทนบริษัทผู้ได้รับสัมปทาน ซึ่งทางนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาจัดเก็บรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้ง 5 ฝ่ายเข้าร่วมประชุม ในวันที่ 28 ต.ค. เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมอิรวดี ศาลากลางจังหวัดพัทลุง ขณะเดียวกัน บริษัทสยามเนสท์ 2022 จำกัด ผู้รับสัมปทานรังนก ซึ่งจะต้องจ่ายเงินงวดที่ 1 ของปี 2564 จำนวน 21,333,333 บาท ภายในวันที่ 31 ต.ค.2564 ได้ยื่นขอเลื่อนการจ่ายเงินไปเป็นวันที่ 31 ส.ค.2565 เนื่องจากเก็บรังนกไม่ได้ตามเป้าจากการถูกขโมยโดยคณะกรรมการรังนกฯ ได้เชิญตัวแทนบริษัทฯชี้แจงในการประชุมวันที่ 28 ต.ค.เวลา 15.00 น.เช่นกัน
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วันเดียวกันนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาจัดเก็บรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมรังนกฯ และได้เปิดโอกาสให้นายพิพัตร อมรวัตพงศ์ ตัวแทนบริษัทรังนกฯ ได้ชี้แจงเหตุผลในการขอเลื่อนการจ่ายค่าอากรรังนก จำนวน 21,333,333 บาทออกไป หลังจากนายพิพัตรฯชี้แจงเสร็จแล้ว ได้ออกมาจากห้องประชุมเพื่อให้คณะกรรมรังนกฯ ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องดังกล่าวกันต่อไป และในการประชุมในครั้งนี้ทางคณะกรรมการรังนกฯไม่ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมฟังการประชุมด้วยเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
ด้านนายพิพัตร ตัวแทนบริษัทสยามเนสท์ฯ เปิดเผยว่า การที่ทางบริษัทฯเข้าประมูลรังนกในครั้งนี้ด้วยราคากลางมากถึง 400 ล้านบาทนั้น เนื่องจากทางบริษัทฯได้ทราบข้อมูลของปริมาณรังนกที่จะจัดเก็บได้ คาดว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บรังนกฯประมาณ 60-70 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงดังกล่าวจะมีปริมาณรังนกทั้งชนิดขาว ชนิดดำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 แต่เมื่อไม่มีรังนกให้เก็บทางบริษัทจึงไม่มีเงินที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าอากรฯเป็นเงิน 21 ล้านบาทเศษได้ เรื่องที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นความบกพร่องของทางบริษัทฯ มิใช่เป็นเรื่องที่บริษัทฯทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เรื่องที่เกิดขึ้นจึงต้องมีคนรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว และจากกการที่ทางบริษัทฯได้ชี้แจงเหตุผลการขอเลื่อนการจ่ายเงินอากรฯนั้นทางคณะกรรมการก็เห็นใจบริษัทฯ และจะได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าพูดคุยในคณะกรรมการรังนกฯ ส่วนเรื่องจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป
นายพิพัตรกล่าวอีกว่า การขโมยรังนกในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับท้องถิ่นอย่างมหาศาล จากการเก็บรังนกในช่วงเดียวกันในระหว่างวันที่ 5-11 ก.ย. 2563 ทางบริษัทฯสามารถจัดเก็บรังนกขาวได้ 812.39 กิโลกรัม เก็บรังนกดำได้ 1,263.50 กิโลกรัม แต่จากการจัดเก็บรังนกในช่วงที่ทางบริษัทเข้ามารับสัมปทานได้ในช่วงระหว่างวันที่ 11 –17 ก.ย. 2564 นั้น ทางบริษัทฯจัดเก็บรังนกขาวได้เพียง 34.79 กิโลกรัม และจัดเก็บรังนกดำได้เพียง 197.76 กิโลกรัมเท่านั้น คิดเป็นเงินแล้วไม่เกิน 4 ล้านบาท ในขณะเดียวกันทางบริษัทฯ ยังต้องใช้เงินในการพัฒนาปรับปรุงด้านต่างๆ บนเกาะรังนกอีกหลายล้านบาท จึงไม่มีเงินที่จะนำมาจ่ายเป็นเงินอากรฯดังกล่าวได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมของคณะกรรมการรังนกฯครั้งนี้ มีวาระการประชุมหลายวาระ อาทิ การขอคัดสำเนาสัญญาสัมปทานของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง แจ้งการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ตามสัญญาสัมปทานรังนกฯของ สตง.พัทลุง การขี้แจงต่อกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร และการพิจารณาการกำหนดเงื่อนไข/หลักเกณฑ์ การเข้าไปท่องเที่ยวในเขตพื้นที่สัมปทานรังนก ฯลฯ โดยในวันนี้(ที่ 28) ในที่ประชุมยังไม่นำเรื่องการขอเลื่อนการชำระค่าอากรรังนกฯของบริษัท จำนวน 21 ล้านบาทเศษ ภายใน 31 ต.ค. 2564 ไปเป็นวันที่ 31 ส.ค.2565 แต่อย่างใด ซึ่งข่าวคืบหน้าจะเสนอต่อไป
ส่วนความเคลื่อนไหวของขบวนการขโมยรังนก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังคงมีการประสานงานกันอย่างลับๆ ในเครือข่าย โดยกลุ่มบงการที่มีนักการเมืองและอดีต สจ.ในภาคใต้เป็นตัวการใหญ่ กับกลุ่มสั่งการที่มีข้าราชการเป็นตัวการ ได้มีการหารือกันที่จะตัดตอนไม่ให้สาวถึงกลุ่มบงการ โดยจะให้กลุ่มสั่งการรับผิดแบบตัดตอน และมีการติดต่อกับผู้ร่วมขบวนการที่ยังไม่ได้ถูกจับกุมไว้แล้ว แต่ทางกลุ่มส่ังการยังไม่ติดสินใจ เนื่องจากยังไม่แน่ใจในพยานหลักฐานของตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนว่า มีมากเพียงพอที่จะจับกุมได้ถึงระดับไหน แม้ว่าจะทราบว่าผู้ต้องหาชุดแรก รวมทั้งพยานปากสำคัญและประชาชนที่ให้เบาะแสได้ให้ข้อมูลไว้จำนวนมาก ซึ่งข่าวคืบหน้าจะเสนอตอ่ไป.