สสส.จับมือภาคีเครือข่าย นำร่อง 5 จังหวัด ส่งเสริม “ร้านค้าไม่ขายยาสูบให้กับบุคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี”
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 16 ต.ค. 2567, 09:00 น. อ่าน : 180กรุงเทพฯ - มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน บุคลากรด้านสาธารณสุข ส่งเสริมร้านค้าจำหน่ายบุหรี่ปฏิบัติตามกฎหมาย “ไม่ขายบุหรี่ให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และไม่มีร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเป็นนักสูบหน้าใหม่ ดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 5 แห่ง คือ 1.เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน 2.เทศบาลเมืองปากแพรก จ.กาญจนบุรี 3.เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด 4.เทศบาลเมืองพัทลุง จ.พัทลุง และ 5.เทศบาลนครแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยส่งเสริมให้งานรณรงค์ควบคุมยาสูบอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่นภายในปี 2565-2570 มีการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ส่งเสริมให้มีการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ สร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการ ร้านค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานตามภารกิจ เช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ร้านค้าแบ่งซองขาย ไม่ขายบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และควรกำหนดโทษกรณีที่มีการทำผิดซ้ำ และส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชน และเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกันเฝ้าระวังอย่างเต็มที่
สำหรับการทำงานของพื้นที่นำร่องทั้ง 5 พื้นที่ ประกอบด้วย เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เริ่มต้นแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และควบคุมป้องกันร้านจำหน่ายบุหรี่ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน มีคณะกรรมการทั้งสองส่วนคือ “คณะกรรมการที่ปรึกษา” ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน สรรพสามิตพื้นที่ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองแม่ฮ่องสอน มีหน้าที่สั่งการ มอบนโยบาย ควบคุม กำกับ และให้คำปรึกษา แก่คณะทำงานในการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ “คณะทำงานเพื่อดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและควบคุม ป้องกันร้านจำหน่ายบุหรี่ปฏิบัติตามกฎหมาย" มีนายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นประธานคณะทำงาน พร้อมด้วยคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่สนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบพุทธศักราช 2560 พร้อมพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการที่จำหน่ายบุหรี่ ให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีการนำบุหรี่ไฟฟ้ามาจำหน่าย พร้อมสนับสนุนและสร้างองค์ความรู้ ให้เยาวชน สถานศึกษาได้รับรู้พิษภัย อันตรายจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทุกระดับชั้น และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยคณะทำงานทั้งสองส่วนได้จัดทำ MOU ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมลงพื้นที่เก็บข้อมูลร้านค้าชุมชนในเขตพื้นที่ดำเนินงาน รณรงค์ให้ความรู้ มอบป้ายสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ให้แก่ร้านค้า และเดินหน้าให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียน ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจการดำเนินงานของคณะกรรมการมากขึ้น และให้ความร่วมมือเพื่อการควบคุมยาสูบเป็นอย่างดี
ส่วน เทศบาลเมืองปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินการสำรวจร้านค้าขายบุหรี่ในพื้นที่ จำนวน 76 แห่ง พบว่า ร้านค้าปฏิบัติครบตามเกณฑ์ 4 ข้อ ได้แก่ ไม่แสดงยี่ห้อหรือราคาบุหรี่ ไม่เปิดตู้หรือไม่วางโชว์ซองบุหรี่ ไม่วางหรือไม่แขวนซองยาเส้น และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 57 ร้าน และมีร้านค้าปฏิบัติไม่ครบตามเกณฑ์ 4 ข้อ จำนวน 19 แห่ง ซึ่งเบื้องต้นก็ได้ให้ผู้นำท้องถิ่นไปตักเตือนให้ความรู้ทางกฎหมาย พร้อมดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนคำเตือน สามารถยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก และการตรวจตราที่ต่อเนื่องทำให้ผู้กระทำผิดน้อยลง ส่งผลดีต่อชุมชน และยังได้เครือข่ายในการแจ้งเบาะแสการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า หรือลักลอบขายกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้ลงนาม MOU กับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชน เข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า สร้างจิตสำนึกของชุมชนรวมถึงเด็ก ให้รับรู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีโทษอย่างไร และทำไมไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานควบคุมยาสูบ พร้อมร่วมกิจกรรมกับเทศบาลเมืองปากแพรกในการรณรงค์งดสูบบุหรี่ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำชุมชน ให้ความร่วมมืออย่างมากในการทำงานร่วมกันกับเทศบาลที่ช่วยป้องกันและควบคุมยาสูบ
ขณะที่ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ได้บูรณาการการดำเนินโครงการรณรงค์ “ไม่ให้ร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่” ร่วมกับหลายฝ่าย มีการประกาศนโยบาย จัดทำ MOU กับภาคีเครือข่าย สร้างกิจกรรมรณรงค์ในโอกาสพิเศษต่างๆ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับ สาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าที่ทางปกครอง เจ้าหน้าที่สรรพสามิต บุคลากรทางการศึกษา โดยมี อสม. ร่วมออกตรวจตราร้านค้าไม่ให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ขายบุหรี่แบบแบ่งซอง ผลงานที่โดดเด่นของจังหวัดคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดที่สามารถจับกุมร้านที่ผิดกฎหมายได้เกือบร้อยละ 50 ขณะที่คลินิกเลิกบุหรี่ มีผู้เข้ารับบริการทั้งสิ้น 115 ราย สามารถเลิกได้อย่างจริงจังที่ 24 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ซึ่งการทำงานในโครงการนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในพื้นที่ได้มากขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่รับรู้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ผ่านการให้ความรู้และประชุมร่วมกันทุก 3 เดือน โดยที่ทุกฝ่ายได้รับทราบถึงสถานการณ์บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างเป็นปัจจุบันและต่อเนื่อง สามารถนำข้อมูลไปปรับใช้กับผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนได้ ขณะเดียวกัน ภาคีเครือข่ายก็รับทราบถึงขั้นตอนการทำงานมากขึ้นว่า สามารถขอความช่วยเหลือใครให้ช่วยบำบัดเพื่อให้เลิกบุหรี่ได้บ้าง ส่วน อสม. ก็มีบทบาทสำคัญในการแจ้งข้อมูลร้านขายบุหรี่ไฟฟ้า หรือร้านที่ผิดกฎหมายให้รับทราบ พร้อมเฝ้าระวังอย่างเต็มที่
เทศบาลนครแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ได้เดินหน้าโครงการ ด้วยการลงพื้นที่สำรวจชุมชนครัวเรือนต่างๆ ว่ามีการสูบบุหรี่มากน้อยอย่างไร พร้อมวิเคราะห์แผนที่โดยคร่าว ผ่านแอปพลิเคชั่น TUM ทำให้รับทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน นำมาสู่การจัดลำดับความสำคัญ แล้วนำมาแก้ไขปัญหาภายในชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่าง ๆ และอาสาสมัครทางสาธารณสุข (อสม.) เข้ามาทำงานร่วมกัน
ส่วนการดำเนินโครงการนำร่องในการให้ร้านค้าปฏิบัติตามกฎหมายไม่มีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้า ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะขึ้นมา พร้อมทำ MOU กับภาคีเครือข่าย เพื่อทำงานร่วมกันจากทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้สุ่มสำรวจร้านขายบุหรี่อย่างต่อเนื่อง พร้อมประชาสัมพันธ์เรื่องของข้อมูลและพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและโรงเรียนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ร้านขายบุหรี่ให้การตอบรับดี ปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง บริเวณวัดก็ปฏิบัติตามข้อกำหนดเช่นกัน มีคนสนใจในเรื่องของพิษภัยบุหรี่มากขึ้น และ เจ้าหน้าที่ อสม. เข้าใจต่อการทำงานมากขึ้นคอยช่วยตรวจสอบเรื่องของสถานการณ์บุหรี่ให้มากขึ้นด้วย
เทศบาลเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ได้เริ่มดำเนินโครงการแล้วหลายด้าน ตั้งแต่การลงนามความร่วมมือ MOU ร่วมกับภาคีเครือข่าย 8 หน่วยงาน พร้อมจัดประชุมคณะทำงาน พร้อมลงพื้นที่สำรวจร้านจำหน่ายบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมให้ความรู้กับร้านค้า จำนวน 45 ชุมชน จากการสำรวจข้อมูลพบว่าร้านค้าที่วางจำหน่ายยาสูบ ที่ได้ขอใบอนุญาตขายยาสูบประเภทที่ 1 จำนวน 1 ราย และใบอนุญาตขายยาสูบประเภทที่ 2 จำนวน 689 ราย และไม่พบร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่
ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน ไม่ให้มีร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ ด้วยการสำรวจร้านขายบุหรี่ไฟฟ้า ปีละ 2 ครั้ง พร้อมประสานงานให้เกิดความร่วมมือกับแกนนำชุมชน และอาสาสมัครทางสาธารณสุข (อสม.) เพื่อแบ่งโซนพื้นที่รับผิดชอบร้านค้าในชุมชนและลงสำรวจในพื้นที่ที่รับผิดชอบทุก 3 เดือน นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ในชุมชนและโรงเรียน โดยผู้แทนชุมชนคัดเลือกพื้นที่ในการเดินรณรงค์ ประสานงานกับผู้แทนชุมชน อสม. และประชาชนในพื้นที่ โดยขอความร่วมมือกับสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุงในการร่วมประชาสัมพันธ์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้จัดกิจกรรมติดป้ายประชาสัมพันธ์ตามจุดต่างๆในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการติดตั้งป้าย
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชนในประเด็นเรื่องโทษ พิษภัย ของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าผ่าน สถานีวิทยุเครือข่ายชุมชน คลื่นวิทยุ FM 103.5 ทุกวันศุกร์ เวลา 08.00 - 09.00 น. พร้อมกับการถ่ายทอดสดการเดินรณรงค์ พร้อมให้ความรู้ผ่านทาง เพจเฟซบุ๊กของเทศบาลเมืองพัทลุง อีกด้วย.
กิจกรรมวันงดสูบบุหรี่ แม่ฮ่องสอน
ภาพกิจกรรม ชลบุรี
ภาพกิจกรรม พัทลุง
ภาพกิจกรรม ปากแพรก กาญจนบุรี
ภาพกิจกรรม ร้อยเอ็ด
ภาพกิจกรรม ร้อยเอ็ด