สสส.ชี้ บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย!
หมวดหมู่ : ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 15 พ.ค. 2566, 08:00 น. อ่าน : 3,188 พิษภัยจาก
“บุหรี่ทุกชนิด” เป็น “อันตราย” ต่อสุขภาพ
ควันบุหรี่
เต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายต่างๆ มากถึง
7,000 ชนิด สารพิษอีกมากกว่า 250 ชนิด และสารก่อมะเร็งอีกมากกว่า 70 ชนิด โดยเฉพาะ
“นิโคติน” ซึ่งจัดเป็นสารเสพติดส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สรุปสั้นๆ คือ “การสูบบุหรี่
1 มวน จะทำให้อายุสั้นลงถึง 7 นาที”
ด้วยเพราะอันตรายล้นมวน
และประชากรรู้เท่าทันจนคนสูบบุหรี่มวนลดลงเรื่อยๆ ทำให้อุตสาหกรรมยาสูบ เดินกลยุทธ์ดึงนักสูบหน้าใหม่เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสูบเดินหน้าไปต่อได้
ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง “บุหรี่ไฟฟ้า” และพยายามล่อหลอกด้วย คำโกหก ว่า
อันตรายน้อยกว่า โดยอ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัยในระยะแรกเพียง 158 ชิ้น ในช่วงปี
2555-2556 ขณะที่ปัจจุบัน ข้อมูลจากจาก Physicians for a
Smokefree Canada เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 พบว่ามีงานวิจัยกว่า
10,369 ชิ้น ที่ยืนยันหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่า
“บุหรี่ไฟฟ้าทำความเสียหายต่อระบบหายใจ และระบบไหลเวียนของเลือด
ไม่มีประสิทธิภาพช่วยให้เลิกบุหรี่ในการใช้ตามปกติ”
และยังทำให้เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะหันมาสูบบุหรี่ธรรมดา
โดยในบางประเทศพบเยาวชนติดนิโคตินเพิ่มขึ้นด้วย
การรณรงค์เพื่อไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่
และลดนักสูบลงจึงเป็นสิ่งที่ยังต้องเดินหน้าเพื่อหยุดผลกระทบจากการสูบบุหรี่
และบุหรี่ไฟฟ้า
วันรณรงค์งดสูบบุหรี่โลก ปีนี้
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า “We
need food, not tobacco - Growing sustainable food crop instead of tobacco” ที่แปลความหมายได้ว่า “เราต้องการอาหารไม่ใช่ยาสูบ เพื่อส่งสัญญาณว่า
การปลูกพืชอาหารที่ยั่งยืนแทนการปลูกยาสูบ”
ไร่ยาสูบ
สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในทุกทาง ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดิน น้ำ
และอากาศเสื่อมโทรม ในแต่ละปีพื้นที่ประมาณ 1.25 ล้านไร่ทั่วโลก
ถูกแผ้วถางเพื่อการเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบ
กระบวนการผลิตยาสูบยังทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 84 ล้านเมตริกตัน/ปี
เทียบเท่ากับการปล่อยจรวดสู่อวกาศ 280,000 ลำ
ส่วนเกษตรกรไร่ยาสูบ
มีความเสี่ยงทางสุขภาพมากกว่าเกษตรกรอื่น พิษของนิโคติน
สามารถดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้โดยง่าย จากนั้นจะแพร่เข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว
เกษตรกรที่สัมผัสใบยาสูบ และได้รับพิษนิโคติน จะเกิดอาการ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้
อาเจียน เหนื่อยอ่อน เป็นตะคริว ท้องเสีย หายใจลำบาก ความดันเลือดชีพจรผิดปกติได้
การช่วยเหลือเกษตรกรไร่ยาสูบ
WHO
ได้เรียกร้องไปถึงรัฐบาลประเทศต่างๆ
ให้สนับสนุนชาวไร่ให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ให้ความรู้เกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนทุนและอุปกรณ์
เพื่อให้ชาวไร่หลุดพ้นจากการปลูกพืชยาสูบและหันไปปลูกพืชทางเลือกที่ยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย
วันรณรงค์งดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ จะโฟกัสไปที่เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ
เสพติด อันตราย”
เพื่อบอกให้คนไทยตระหนักว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ และจะกลายเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน
เมื่อดูจากสถิติการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่าคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน
คิดเป็น 0.14% ของประชากร 15 ปีขึ้นไป
ที่น่าเป็นห่วงคือ
30% ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า คือ เด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี
หากไม่หยุดตัวเลขนี้ ประเทศไทยอาจจะเหมือนสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งแต่ปี 2554-2561 มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กมัธยมถึง 900 เท่าตัว ทำให้ในบางรัฐต้องประกาศห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยมี 32 ประเทศ ที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบเช่นเดียวกับประเทศไทย
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ
ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.
สนับสนุนการดำเนินงานควบคุมยาสูบตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 โดยกำหนดเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าว่า
1.อัตราการบริโภคยาสูบของประชากรไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไปลดลง
2.อัตราการบริโภคยาสูบของเยาวชน อายุ 15-19 ปี ลดลง
3.อัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองของประชาชนลดลง
4.ความรอบรู้ทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบของเยาวชนเพิ่มขึ้น
การป้องกันนักสูบหน้าใหม่
ถือเป็นภารกิจหลักของ สสส. ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
ซึ่งพบว่าเด็กและเยาวชนกลายเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจยาสูบ
โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่มีความเสี่ยงสูงในการเข้าถึงบุหรี่
รวมทั้งจะต้องหาทางช่วยเหลือกลุ่มวัยทำงาน
ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุด
การขับเคลื่อนงานจะเน้นไปที่การป้องกันเด็กเล็ก
อายุต่ำกว่า 7 ปี ไม่ให้ได้รับควันบุหรี่ และป้องกันเยาวชนอายุ 7-20 ปี
จากบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยการให้ความรู้เท่าทัน พิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
เพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเอง
โดยจะต้องเข้าไปพัฒนาเครือข่ายเยาวชนอาชีวะในการลดปัจจัยเสี่ยง ทั้งบุหรี่ เหล้า
อุบัติเหตุ
นอกจากนี้
ยังมีแผนเพื่อช่วยเหลือวัยทำงานให้สามารถเลิกบุหรี่ได้
ทำให้เข้าไปสนับสนุนเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบในการขยายเครือข่ายคลินิกฟ้าใส
ซึ่งเป็นคลินิกให้คำปรึกษาสำหรับผู้ติดบุหรี่และต้องการเลิกบุหรี่
ปัจจุบันมีคลินิกฟ้าใสจำนวน 554 แห่ง
สนับสนุนสายเลิกบุหรี่
1600 ให้บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ (โทรฟรี ทุกเครือข่าย)
ผลักดันยาไซทิซิน (Cyticine)
ซึ่งเป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพดีและมีความปลอดภัยสูง
เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ
ฉะนั้น
ถึงเวลาตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง
เปิดคำลวงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้า
กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของอุตสาหกรรมยาสูบ
ที่มีความพยายามปั้นแต่งหลักฐานเพื่อบอกให้ผู้บริโภคเชื่อว่า มันปลอดภัย
แต่ความจริงคืออะไร?
ศ.สแตนตัน กลานซ์
ศูนย์วิจัยและควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส
สหรัฐอเมริกา และ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ได้ค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งงานวิจัยที่เชื่อถือได้ทั่วโลกมาตรวจสอบ
เพื่อให้เกิดความกระจ่างในความจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า
5
เรื่องบิดเบือนของบุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า
: ข้อเท็จจริง ข้อมูลเรื่องนี้มีสมมติฐานจากรายงานเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเพียงไม่กี่ชิ้นที่ไม่ได้รับความเชื่อถือ
พบว่าเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2014
โดยพบปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในกลุ่มคนที่ทำการศึกษาด้วย แต่หลังจากนั้น
กลับมารายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าว่า ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
โดยมีความเสี่ยงการเกิดโรคปอด โรคหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่ง 2 ใน 3
ของผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ธรรมดา เกิดจากโรคปอด โรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ
สิ่งที่พบ คือ
บุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังมีสารก่อมะเร็ง โลหะหนัก สารเคมีหลายชนิดที่มีในบุหรี่ธรรมดา
และมีสารเคมีอีกหลายชนิดที่บุหรี่ธรรมดาไม่มี
และประเด็นเรื่องไอจากบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีงานวิจัยที่พบว่า ไอดังกล่าวมีสารเคมี
สารก่อมะเร็ง และฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวนมาก
ทำให้เกิดอาการทางเดินหายใจได้เช่นเดียวกัน
บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้มากขึ้น
: ข้อเท็จจริง ภาพรวมในการสำรวจงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่า
บุหรี่ไฟฟ้าไม่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้มากขึ้น สิ่งที่พบเพิ่มขึ้น คือ บุหรี่ไฟฟ้า
ทำให้คนติดบุหรี่ทั้งสองชนิด ก็คือ ติดทั้งบุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้า
ด้วยเพราะวัตถุประสงค์ในการผลิตบุหรี่ไฟฟ้า คือ ทำให้คนติดบุหรี่ไฟฟ้า
จึงให้มีนิโคตินที่สูงกว่าเดิม ทำให้คนยังคงติดบุหรี่ และหากต้องการเลิกบุหรี่
หลักการคือ ต้องทำให้นิโคตินลดลง ไม่ใช่ทำให้นิโคตินเพิ่มขึ้น
สิ่งที่พบ
ไม่มีประเทศใดที่รับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่แม้แต่ประเทศเดียว
แถมยังพบว่า ทัศนคติของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า คือ เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่า
ถูกรังเกียจน้อยกว่า ทำให้มีแนวโน้มจะเลิกสูบบุหรี่ได้ยากกว่าบุหรี่ธรรมดา
บุหรี่ไฟฟ้าไม่ทำให้ติดบุหรี่ธรรมดา
: ข้อเท็จจริง งานวิจัยหลายชิ้นสอดคล้องกัน 100% ระบุชัดเจนว่า
เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่มวน เมื่อเริ่มเสพนิโคตินผ่านการสูบบุหรี่ไฟฟ้า
มีความโน้มเอียงสูงที่จะพัฒนาไปสูบบุหรี่มวนมากกว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า
2-4 เท่า
สิ่งที่พบ
เด็กและเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ ถูกดึงให้เข้ามาสู่การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูด มีการแต่งรส แต่งกลิ่นจำนวนมาก
ซึ่งพบงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า เด็กมัธยมเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า 70%
เพราะชอบกลิ่นหอมและรสชาติต่างๆ โดยนักเรียน 85% สูบบุหรี่ไฟฟ้าชนิดแต่งกลิ่น
บุหรี่ไฟฟ้าทำให้สูบบุหรี่ลดลงลดเสี่ยงเกิดโรค
: ข้อเท็จจริง ไม่มีหลักฐานใดสนับสนุนในข้อนี้ ยิ่งไปกว่านั้น
การสูบบุหรี่ระดับน้อย ๆ ก็ไม่ทำให้ความเสี่ยงน้อยลง
โดยเฉพาะการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะการสูบบุหรี่วันละไม่กี่มวน
ก็มีอันตรายเท่าการสูบบุหรี่วันละ 20 มวน
สิ่งที่พบ
ในบุหรี่ไฟฟ้าเต็มไปด้วยนิโคตินที่ส่งผลต่อหัวใจ
แต่งานวิจัยพบว่า แม้แต่บุหรี่ไฟฟ้าที่อ้างว่าไม่มีนิโคติน
ก็ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์เยื่อบุหลอดลม และหลอดเลือดฝอย
ผลจากสารปรุงแต่งกลิ่นรส สารละลายที่ทำให้เกิดละอองไอ
ซึ่งเป็นสารเคมีแปลกปลอมทางเดินหายใจทั้งสิ้น
นิโคตินถึงจะเสพติดแต่ไม่ทำให้เสี่ยงโรคอื่น : ข้อเท็จจริง นิโคติน เป็นสารพิษที่มีผลต่อการเจริญพันธุ์ แม้จะไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่นิโคตินเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และขัดขวางการตายของเซลล์ปกติ
สิ่งที่พบ
นิโคตินเป็นตัวเสริมให้เกิดการสร้างเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้องอกให้เติบโตเพิ่มขึ้น
ทำให้เนื้อมะเร็งโตเร็วขึ้น อีกทั้งยังทำให้หลอดเลือดแข็งตัว
ทำให้อาการโรคปอดและโรคอื่นๆ แย่ลง.