สสส.ถอดบทเรียน 4 ประเทศ สู้ความท้าทายงาน "สร้างเสริมสุขภาพ" ในทศวรรษหน้า
หมวดหมู่ : ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 15 พ.ย. 2566, 12:30 น. อ่าน : 498กรุงเทพฯ - ปัญหาสุขภาพของผู้คนบนโลกในยุคนี้ ปัจจัยหลักมาจากพฤติกรรมสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) การขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จึงมีความสำคัญมากพอๆ กับการรักษาในโรงพยาบาลที่เป็นการตั้งรับเมื่อเกิดการเจ็บป่วยแล้ว แต่การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กระทั่งการตั้งองค์กรขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพก็มีความยากในตัวเช่นกัน
ในการประชุมเครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ (INHPF) ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566 หรือการประชุมเครือข่าย สสส.โลก เมื่อวันที่ 9-10 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีหัวข้อ "ก้าวต่อไปของเครือข่าย INHPF" ร่วมประกาศ “ปฏิญญากรุงเทพฯ (INHPF Bangkok Declaration)” ในการประชุมเครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566 The 20th International Network of Health Promotion Foundations (INHPF) Annual Meeting 2023
ดร.สุปรีดา
อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เผยว่า ที่ประชุมเครือข่าย INHPF
ได้ร่วมกันประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ
ยกระดับสร้างเสริมสุขภาพมุ่งสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม
ซึ่งเรียกร้องให้องค์กรสมาชิกของเครือข่ายฯ
ระดมทรัพยากรขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานสร้างเสริมสุขภาพอย่างเพียงพอและยั่งยืน
สร้างความตระหนักรู้ถึงปัจจัยกำหนดสุขภาพที่กำลังเปลี่ยนแปลง
รวบรวมแนวปฏิบัติการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างเสริมความรู้เท่าทันด้านดิจิทัล
และเพิ่มโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลสุขภาพโดยมุ่งเน้นกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมความโปร่งใส ความรับผิดชอบ สร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการสร้างเสริมสุขภาพ
ตลอดจนสานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและระหว่างประเทศ
ดร.สุปรีดา กล่าวเพิ่มเติม ปฏิญญาฯ เสนอข้อเรียกร้องต่อองค์กรภายใต้สหประชาชาติให้ร่วมสนับสนุนความพยายามในการระดมทรัพยากรและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างความเข้มแข็งของธรรมาภิบาลด้านสุขภาวะที่เอื้อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังเชิญชวนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ พัฒนาแผนงานด้านสุขภาวะแบบบูรณาการ ผลักดันกฎหมาย สนับสนุนทรัพยากรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างและขยายระบบสวัสดิการสังคม เร่งสร้างความก้าวหน้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายโลกด้านสุขภาพ ท้ายที่สุด ปฏิญญาฯ ยังกระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ส่งเสริมและขยายเครือข่ายพหุภาคี ประสานการดำเนินการข้ามภาคส่วน และส่งเสริมกลไกการเงินการคลังที่ยั่งยืนเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะในทุกระดับที่เป็นธรรมอีกด้วย
นพ.อเลสซานโดร
ดีเมโย ประธานเครือข่าย INHPF และผู้จัดการกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งแคว้นวิกตอเรีย
(VicHealth) ประเทศออสเตรเลีย ได้ปาฐกถานำ
"ทศวรรษหน้าของ INHPF ความท้าทายและโอกาสที่สำคัญ"
โดยระบุว่า ในช่วงทศวรรษหน้า 10-20 ปีจากนี้
การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพราะหลายๆ
อย่างมีการพัฒนามากขึ้น เช่น ยาสูบ จะเห็นว่ามีการพัฒนาจากบุหรี่มาสู่บุหรี่ไฟฟ้า
และพัฒนาไปสู่เครื่องมือยาสูบอีกมาก
ตรงนี้ถือว่าเป็นความท้าทายและอุปสรรคที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ
นพ.อเลสซานโดร กล่าวว่า ตนมองเห็น 5 โอกาสสำคัญของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษหน้า คือ 1.การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ การปรับพฤติกรรมคน เช่น การทำให้คนรับประทานผักมากขึ้น เราไม่ได้เปลี่ยนโภชนาการให้กินผักมากขึ้น แต่ต้องเปลี่ยนเชิงระบบ ทำให้เข้าถึงมากขึ้น เป็นการสร้างอิทธิพลในระบบให้ผู้คนทำในสิ่งนั้น สิ่งสำคัญคือการบูรณาการทีมในองค์กรทั้งทีมการตลาด ทีมส่งเสริมสุขภาพ ทีมสื่อ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในการสื่อสาร 2.การทำให้เห็นประโยชน์ของการมีสุขภาพดี ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น ต้องทำงานในมิติอื่นด้วย เช่น เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีรากปัญหาไปสู่เรื่องสุขภาพเช่นกัน 3.ความเชื่อใจจากประชาชน ปัจจุบันความเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลถูกลดทอนลงไป แต่มีอีกหนึ่งกลุ่มที่ประชาชนเชื่อใจมากขึ้นคือ ชุมชนด้านสุขภาพ จึงเป็นโอกาสที่เราต้องทำงานข้ามเครือข่ายมาหากลุ่มนี้มากขึ้น จะเสริมสร้างขีดความแข็งแกร่งในการทำงาน 4.การเชื่อมโยงเศรษฐกิจการเมืองสุขภาพ เช่น อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีส่วนสร้างสถานการณ์ด้านสุขภาพ ต้องพยายามทำความเข้าใจมุมมองเชิงพาณิชย์ และ 5.การเชื่อมโยงเครือข่าย INHPF จะเห็นว่าช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา เราไม่สามารถเพิกเฉยข้อเท็จจริงที่ว่า สุขภาพคือปัญหาระดับโลก และเราไม่สามารถใช้ชีวิตบนโลกนี้ตัวคนเดียวได้ เศรษฐกิจ สุขภาพ และประชาชนมีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้น เครือข่าย INHPF จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้น เป็นโอกาสที่จะขยายประเทศเครือข่ายใหม่ในอีก 10 ปีจากนี้
ขณะที่ในเวทีเสวนา "วิธีการจัดการกับความท้าทายที่สำคัญและใช้ประโยชน์จากโอกาสในการส่งเสริมสุขภาพในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง" มีการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานความท้าทายของกองทุนสร้างเสริมสุขภาพใน 4 ประเทศ หนึ่งในประเทศที่น่าสนใจคือประเทศตองงา TongaHealth เป็นองค์กรเล็กๆ จากประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก จะได้มีโอกาสเรียนรู้แนวทางใหม่ๆและวิธีการจัดการป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ NCDs ที่นับเป็นปัญหาใหญ่ของตองงา โดย TongaHealth มองสสส.เหมือนเป็นองค์กรรุ่นพี่ ที่คอยสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์อยู่เสมอ ที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือจากสสส.ไทยด้านการดำเนินงานลดปัจจัยเสี่ยง NCDs และด้านนวัตกรรมการเงินการคลัง นำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.โอฟีนา ฟิลิโมเอฮาลา ผู้จัดการกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งตองงา (TongaHealth) เล่าว่า ตองงาเป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดในเครือข่าย INHPF หากมองจากแผนที่โลกก็แทบมองไม่เห็น มีประชากรเพียง 1 แสนคนเท่านั้น ความท้าทายของงานสร้างเสริมสุขภาพของตองงาคือ ประชากรกระจายอาศัยใน 30 กว่าเกาะที่จากร้อยกว่าเกาะ ได้ตั้งสำนักงานใหญ่ใน 5 เกาะหลัก ในขณะที่เรามีเจ้าหน้าที่ดำเนินงานเพียง 20 คน มีเจ้าหน้าที่สื่อสารเพียงคนเดียว อุปสรรคสำคัญคือการเดินทาง เพราะมีแค่เกาะหลัก และเกาะรอบ ๆ ที่มีเที่ยวบิน ซึ่งใช้เวลา 2 ชม. หรือบางเกาะมีเครื่องบินแค่ 1 รอบ ทุก 2 สัปดาห์ ถ้าพลาดก็ต้องรอไปอีก หากนั่งเรือก็ใช้เวลาทั้งวัน ส่วนตัวเมาเรือ ก็ต้องนอนตลอดการเดินทาง การสื่อสารอินเทอร์เน็ตไม่ดี สำนักงานใหญ่ไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้บางครั้งขาดการติดต่อกันไป 1-2 สัปดาห์ ที่สำคัญสสส.ตองงาทำงานภายใต้งบประมาณจากรัฐบาลตองงาและออสเตรเลีย ต้องยื่นเสนอของบประมาณทุกปี หากงบประมาณมาล่าช้า ก็ต้องทบทวนการทำงานใหม่
“รัฐบาลตองงาให้ความสำคัญการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่ออันดับแรกๆ
เนื่องจากพบผู้ใหญ่ 8 ใน 10 คน
มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งการทำงานสร้างเสริมสุขภาพเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย
สิ่งหนึ่งที่รู้สึกดีมากคือ การได้เข้าร่วมภาคีเครือข่าย INHPF ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานได้มาก โดย VicHealth สนับสนุนการแลกเปลี่ยนพนักงานไปเรียนรู้การทำงานสร้างเสริมสุขภาพในหลายๆ ภาคส่วน” น.ส.โอฟีนา ระบุ.