สสส.แนะ “รัก” แบบ Safe คือรักแบบไหนกัน
หมวดหมู่ : ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 16 ก.พ. 2566, 08:00 น. อ่าน : 591 กลิ่นอายวันแห่งความรักอบอวลเมื่อย่างกรายเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์
วันแห่งความรัก
กลายเป็นสัญลักษณ์การบอกรัก แสดงความปรารถนาดีต่อคนที่รักและห่วงใย
เพราะความรักไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในคู่รัก แต่เกิดขึ้นกับคนทุกเพศ
ทุกวัย เมื่อมีความรักบรรจุอยู่ก็จะตามมาด้วยความหวังดี ปรารถนาดีต่อกันตามมา
เราจึงสามารถมอบความรักให้ต่อกันได้เสมอ
แน่นอนว่าเมื่อกล่าวถึงวันแห่งความรัก
หลายคนก็คงจับจ้องไปที่คู่หนุ่มสาว ซึ่งมักเป็นความรักที่เต็มไปด้วยการแสดงอารมณ์
แสดงความรู้สึกต่อกัน จึงไม่แปลกที่ในสายตาของผู้ใหญ่จะมีแต่ความเป็นห่วง
จนบางครั้งนำมาซึ่งความไม่เข้าใจ และกลายเป็นกำแพงที่ไม่สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ
โดยเฉพาะ
“เรื่องเพศ” เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ
ที่จะเปิดใจคุยกันแบบตรงไปตรงมา
ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
ท้องไม่พร้อม ท้องในวัยรุ่น เรื่องเพศ ไม่ได้หมายความเฉพาะเรื่องของเพศสัมพันธ์
แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกาย จิตใจ สังคม วัฒนธรรม
ที่ต้องให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องกับบุตรหลาน
เพื่อเสริมสร้างให้เขามีทักษะในการดูแลตัวเอง
สสส.
ขับเคลื่อนประเด็นสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศตั้งแต่ปี 2548
และเริ่มรณรงค์เรื่องสุขภาวะทางเพศอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ปี 2553
เพื่อกระตุ้นให้พ่อแม่สามารถคุยเรื่องเพศกับลูกได้อย่างเปิดอก ลดปัญหาอื่น ๆ
ที่จะตามมา โดยต้องกะเทาะความเชื่อ ทัศนคติของคนในสังคมครั้งใหญ่ว่า
เรื่องเพศเป็นเรื่องที่สามารถคุยกันได้ ไม่ควรปิดบัง ไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก
แต่เป็นการให้ความรู้ การสร้างความเข้าใจ เพื่อให้มีทักษะในการดำเนินชีวิต
สัญญาณที่สะท้อนว่าเรื่องเพศคุยได้
จากสถานการณ์การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังสูงในกลุ่มเยาวชนอายุ
15-24 ปี ในยุคที่เต็มไปด้วยความรู้ อุปกรณ์ในการป้องกันโรค ก็ยังพบว่า โรคซิฟิลิส
เมื่อปี 2561 พบอัตราป่วย 27.9 ต่อแสนประชากร และเพิ่มขึ้นเป็น 50.5
ต่อประชากรแสนคน ในปี 2564
สาเหตุหลักมาจากการไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
เรื่องเพศจึงเป็นเรื่องที่ควรพูดคุยกันอย่างจริงจัง
และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น เพื่อลดปัญหาทั้งทางกาย เช่น
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การท้องไม่พร้อม การทำแท้งไม่ปลอดภัย
และความรุนแรงทางจิตใจ เช่น การทำร้ายตัวเอง เนื่องจากความสัมพันธ์เป็นพิษ
ทัศนคติเชิงบวก
เป็นสิ่งที่ สสส. ส่งผ่านแคมเปญรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
นับเป็นความท้าทาย แต่เรายังเชื่อว่า สามารถเกิดขึ้นได้จริง
“คุยเรื่องเพศ
ลดโอกาสพลาด” เพราะสถานการณ์ปัญหา ความเข้าใจเรื่องเพศช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เปลี่ยนไปอย่างมาก สังคมเริ่มรับรู้ว่า เพศวิถีศึกษา
เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพูดคุยกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กโตท่ามกลางความไม่รู้
เพื่อสร้างทักษะชีวิต
การรณรงค์
“คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” จึงเน้นไปที่พ่อแม่ผู้ปกครอง
โดยแคมเปญนี้จะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการคุยเรื่องเพศหรือการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว
มีเทคนิควิธีหรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวช่วยในการพูดคุยกับลูก
โดยเน้นย้ำว่า “คุยเรื่องเพศ
เริ่มที่รับฟัง ไม่ตัดสิน” เพื่อตอกย้ำแนวคิดหลักของ สสส.
ตั้งแต่แรกเริ่มในการทำงาน ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่คุยกันได้ พูดได้
และครอบครัวควรเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยสื่อสารเรื่องนี้กับลูกหลานในบ้าน
ไม่ใช่เพียงเรื่องเนื้อตัวร่างกายเท่านั้น
แต่ปัจจุบันยังพบอีกว่า วัยรุ่นมีปัญหาทางจิตใจอย่างมาก
เนื่องจากเด็กต้องการเป็นที่ยอมรับ อยากค้นหาตัวเอง อยากเป็นอิสระ
หากไม่ได้รับการดูแล ส่งเสริมความเข้าใจในตนเอง
การรับรู้ถึงคนรอบข้างที่มักมีอิทธิพลต่อความคิด
หรือการพัฒนาให้มีทักษะชีวิตที่ดีเพียงพอ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ เพศวิถี สุขภาวะทางเพศ
รวมทั้งปัญหาความเครียดจากการเรียน
ความเครียดจากปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน กับคู่รัก หรือกับพ่อแม่
และเลือกจะเข้าหาเพื่อน คู่รัก
ซึ่งเยาวชนและวัยรุ่นไว้ใจมากกว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่
แนวทางสำคัญในมิติด้านจิตใจคือ
การส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เช่น การพูดคุยและรับฟังอย่างเข้าใจ
ไม่ตัดสินว่าไม่ดี การชื่นชมและให้กำลังใจ จะทำให้ลูกเข้าหาพ่อแม่ ผู้ใหญ่
อีกทั้งการส่งเสริมให้มีทักษะชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักคิดวิเคราะห์
การคิดสร้างสรรค์ การรู้จักตนเองและเห็นใจผู้อื่น การสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสาร
การตัดสินใจและการแก้ปัญหา รวมไปถึงการจัดการอารมณ์และความเครียด
จังหวัดเชียงรายต้นแบบนำร่องบูรณาการเรื่องเพศและสุขภาพจิต
สสส.
ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย มูลนิธิแพธทูเฮลท์
เทศบาลนครเชียงราย ท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย
และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ดำเนินการ ยกระดับพื้นที่จังหวัดเชียงรายให้เป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องการทำงานแบบบูรณาการที่เชื่อมร้อยประเด็นการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ
ในประเด็นเรื่องเพศและสุขภาพจิต
กระบวนการทำงานมีทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์เรื่องเพศและสุขภาพจิตในพื้นที่
วิเคราะห์ต้นทุนการทำงานที่แต่ละหน่วยงานมี
เพื่อแสวงหาจุดแข็งและจุดร่วมที่จะทำงานด้วยกัน จนออกมาเป็นแผนปฏิบัติการ
ที่ทุกฝ่ายจะขับเคลื่อนร่วมกันในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
โดยมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาเครือข่ายและกลไกการทำงานแบบบูรณาการเรื่องเพศและสุขภาพจิตในพื้นที่ จ.เชียงราย ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปส่งเสริมเด็ก/เยาวชนในสถานศึกษาได้เรียนรู้เรื่องเพศและสุขภาพจิตไปพร้อมกัน อันจะส่งผลให้เด็กเกิดการพัฒนาทักษะทางสุขภาวะทางเพศและสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น
นายชาติวุฒิ วังวล
ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.
แน่นอนว่า
ความเป็นพ่อแม่ ไม่มีใครที่ไม่กังวลในความเปลี่ยนแปลงไปของลูก
จนบางครั้งความห่วงใยกลายเป็นทัศนคติเชิงลบต่อการดำเนินชีวิตของลูก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ การมีแฟน หรือเพศสัมพันธ์
ยังมีพ่อแม่จำนวนมากที่คิดว่าลูกคือเด็กเสมอ ลูกไม่มีทางมีเซ็กซ์
การสร้างเครื่องมือเพื่อให้พ่อแม่ได้ทำความเข้าใจเรื่องการพูดคุยกับลูก
จึงเป็นสิ่งที่ สสส. ริเริ่มและดำเนินการมาเป็นเวลานาน เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยให้ความรู้แก่พ่อแม่ได้ง่ายขึ้น
แต่สิ่งที่สำคัญคือ
“การสร้างทัศนคติเชิงบวก” เปลี่ยนมายด์เซ็ตของพ่อแม่ให้เข้าใจสถานการณ์ว่า
ปัจจุบันนั้นสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีด้วยปลายนิ้ว
สิ่งแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนไปหมด ถ้าพ่อแม่ไม่เปลี่ยนตามให้ทัน
ก็ไม่มีทางเข้าใจกันได้ สิ่งที่ต้องทำคือ “การเปิดใจกว้างให้ลูกเข้าถึงได้
รักลูกแบบเปิดใจ ไม่รักอย่างที่อยากให้เขาเป็น แต่รักในแบบที่เขาเป็น”
แม้ทัศนคติเป็นเรื่องเปลี่ยนยาก แต่สามารถเปลี่ยนได้ เพราะสิ่งที่พ่อแม่มีเป็นพื้นฐานคือ ความรัก ความปรารถนาดีที่มีต่อลูก ความรักจะเปลี่ยนอุปสรรคได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ ที่ในปัจจุบันเด็กเปราะบางอย่างมาก การให้คุณค่าในตัวเอง จะกลายเป็นเกราะลดปัญหาท้องไม่พร้อม เพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย การทำร้ายตัวเอง เพราะหากให้คุณค่ากับตัวเองเพียงพอ ก็จะปฏิเสธสิ่งที่จะทำให้ตนเองตกอยู่ในอันตรายและสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยได้อย่างถูกต้องด้วย
นายดิเรก ตาเตียว เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์
“Love
Care กล้ารัก กล้ารับผิดชอบ”
แคมเปญรณรงค์ในเดือนแห่งความรัก
ที่เชิญชวนให้วัยรุ่นกล้าที่จะรักและรับผิดชอบ ด้วยการโพสต์คลิปการขอรับถุงยางอนามัย
หรือซื้อถุงยางอนามัย โดยโพสต์ลงในแอปพลิเคชัน TikTok เพื่อตอกย้ำว่า การพกถุงยางอนามัยนั้นไม่ใช่เรื่องผิด
และถือเป็นความรับผิดชอบ
การส่งเสริมให้คนใช้ถุงยางอนามัย
เป็นเรื่องที่จะต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง นายดิเรก ตาเตียว
เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ชี้ว่า แม้ว่าเยาวชนกล้าที่จะซื้อถุงยาง
แต่พบว่ามุมมองและทัศนคติในเรื่องถุงยางอนามัยยังเป็นไปในแง่ลบ
ผู้ใหญ่ยังมีมุมมองต่อเด็กผู้หญิงที่พกถุงยางอนามัยว่า เป็นผู้หญิงไม่ดี
ขณะที่กลุ่มเด็กผู้ชายมักจะมีการพูดคุยกันว่าการสวมถุงยางอนามัยจะทำให้ไม่สามารถรับความรู้สึกขณะมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างเต็มที่
ทำให้ต้องมีการปรับมุมมองกัน
การสอนเรื่องถุงยางอนามัย
เป็นการเตรียมตัวให้เด็กได้เรียนรู้ เข้าใจ รู้จักและสัมผัสกับถุงยางอนามัยมากขึ้น
เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
อารมณ์ความรู้สึกทางเพศจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว และการเรียนรู้ที่จะกล้าพก
กล้าใช้ถุงยางอนามัยก็เป็นเรื่องสำคัญ
เพราะเป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ
เราต้องกล้าที่จะสื่อสาร
ให้เป็นเรื่องปกติเหมือนกับการที่เราสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโควิด-19
เรื่องเพศคุยอะไร?
เพราะเรื่องเพศไม่ได้มีแค่เรื่องเพศสัมพันธ์
แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยทั้งกายและใจ
เรื่องร่างกาย
พ่อแม่สามารถคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การดูแลสุขภาพ และสุขอนามัย
ตามช่วงวัยซึ่งในช่วงวัยเด็กเปลี่ยนแปลงเข้าวัยรุ่นจะเต็มไปด้วยความสงสัยมากมาย
เรื่องจิตใจ
ความรัก ความสัมพันธ์ที่เข้ามา ย่อมกระทบจิตใจ
เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
ความรู้สึก บางครั้งลูกก็ไม่รู้ว่าต้องจัดการมันอย่างไร
เรื่องความคิด
แม้แต่เป็นเด็กก็เริ่มมีมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
การพูดคุยกันจะช่วยทำให้ได้แนะนำวิธีแก้ปัญหา แลกเปลี่ยนทักษะชีวิต
เรื่องสิทธิและสังคม
คือ การปกป้องตัวเอง และไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น
รวมทั้งรู้จักเคารพความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคม
6 ทักษะคุยกับลูกเรื่องเพศ คุยให้ได้คิด คุยให้ได้ใจ
1.รับฟังไม่ตัดสิน ทุกครั้งที่คุย พ่อแม่มักมีความคิดอยู่ในใจ
จนทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจฟัง แต่กำลังคิดตัดสิน
พ่อแม่จึงต้องฟังอย่างเข้าใจ ไม่รีบตัดสินว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นผิดหรือถูก
2.ตั้งคำถามชวนคิด การสั่งสอนใช้ไม่ได้กับวัยรุ่นที่อยากท้าทาย ต่อต้าน
การตั้งคำถามจะทำให้เด็กได้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
3.ชื่นชมความคิด ทุกครั้งที่ลูกมีความคิดที่ดี ควรชมเชยให้ลูกได้รู้ว่า
สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง
4.เสริมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาจมีบางเรื่องที่พ่อแม่ก็ตอบไม่ได้
เพียงบอกลูกอย่างตรงไปตรงมา และชวนคิดหรือหาข้อมูล หาคำตอบไปด้วยกัน
เรียนรู้ไปด้วยกัน
5.เชื่อมั่นและเคารพในตัวลูก
เมื่อพ่อแม่เชื่อมั่นในตัวลูก เคารพการตัดสินใจและการเลือกของลูก
จะทำให้ลูกเชื่อมั่นและนับถือตัวเอง
6.เป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา
แสดงให้ลูกเห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร พ่อแม่ก็พร้อมเป็นทีมเดียวกันกับลูกเสมอ
ซึ่งอาจจะเริ่มจากสถานการณ์จำลองจากซีรีส์ชวนคุย ชวนคิดว่า
ถ้าเกิดปัญหาจะทำอย่างไร
เรื่องเพศคุยเมื่อไหร่ถึงจะดี?
เมื่อเด็กอยากคุย
นับเป็นสัญญาณว่าเด็กเปิดใจ อยากหาคำตอบในเรื่องที่กำลังสนใจอยากรู้
ถือเป็นโอกาสทองที่จะคุยกับลูก โดยเลือกคำตอบที่เหมาะสมกับช่วงวัย
เมื่อมีโอกาส
ไม่ว่าจะเป็นจากเหตุการณ์รอบตัว หรือข่าว ละคร
ก็สามารถหยิบยกเอามาเป็นประเด็นที่จะพูดคุยกันได้ โดยนำสถานการณ์นั้น
มาวิเคราะห์และเรียนรู้
เมื่อจำเป็นต้องคุย
ถือเป็นสถานการณ์จำเป็น โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ สุขอนามัย เช่น
ลูกถึงวัยมีประจำเดือน หรือเริ่มมีแฟน
ควรเลือกหัวข้อที่แสดงถึงความห่วงใยและเข้าใจ.